วันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2561

กิจกรรม(Acitivity)บทที่ 1 การศึกษา การพัฒนามนุษย์ กับหลักสูตร






1.สืบค้นจากหนังสือหรือในระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เรื่อง การพัฒนามนุษย์ การศึกษา การเรียนรู้ และหลักสูตร
ตอบ
1การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  (Human Resource Development)
คำจำกัดความของ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

                                        
            มนุษย์ คือ สัตว์ที่รู้จักใช้เหตุผล  สัตว์ที่มีจิตใจสูง   ทรัพยากร หมายถึง  สิ่งทั้งปวงอันเป็นทรัพย์   ส่วนพัฒนา  หมายถึง  ทำให้เจริญ     (พจนานุกรม  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525)  จากความหมายของศัพท์ดังกล่าว สรุปได้ว่า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คือการทำให้มนุษย์เจริญ มีศักยภาพมากขึ้นจนกลายเป็นทรัพยากรที่มีค่าในสังคมและในประเทศ        

        การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หมายถึง  กระบวนการดำเนินงานที่ส่งเสริมให้ บุคลากรเพิ่มความรู้ และทักษะ  มีพฤติกรรมการทำงานที่เหมาะสมกับงานที่รับผิดชอบ   ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพของบุคลากรให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หลายๆ คนมักจะมีคำถามกับคำว่า "การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์(Human Resources Development)" มีความสำคัญต่อการบริหารจัดการต่างๆ ในองค์การอย่างไร ก่อนอื่นต้องมาดูคำจัดกัดความของกูรู ต่างๆ ดังนี้

               Swanson (1995) ให้ความหมายว่าเป็นกระบวนการของการพัฒนาและการทําให้บุคลากรได้แสดงความเชี่ยวชาญ (Expertise) โดยใช้การพัฒนาองค์การ การฝึกอบรมบุคคลและพัฒนาบุคคลโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงการปฏิบัติงาน

                  Rothwell and Sredl (1992) ให้ความหมายว่า เป็นการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ขององค์การ(Organizational Learning) โดยนายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบ เพื่อจุดประสงค์ในการปรับ     ปรุงการทํางานซึ่งเน้นการทําให้บุคลากรทํางานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยการบูรณาการเป้าหมายขององค์การและความต้องการของบุคคลให้สอดรับกัน

หลักการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

          การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นการนำศักยภาพของแต่ละบุคคลมาใช้ ในการปฏิบัติงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสร้างให้แต่ละบุคคลเกิดทัศนคติที่ดีต่อองค์การ ตลอดจนเกิดความตระหนักในคุณค่าของตนเอง เพื่อนร่วมงานและองค์การ เมื่อพิจารณา
          1. มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพที่สามารถพัฒนาให้เพิ่มพูนขึ้นได้ ทั้งด้านความรู้ ด้าน ทักษะและเจตคติ ถ้าหากมีแรงจูงใจที่ดีพอ

            2. การพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ควรเป็นกระบวนการต่อเนื่อง ตั้งแต่การสรรหา การคัดเลือก นำมาสู่การพัฒนาในระบบขององค์การ

             3. วิธีการในการพัฒนาทรัพยากรมีหลายวิธี จะต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะขององค์การ และบุคลากร

             4. จัดให้มีระบบการประเมินการพัฒนาความสามารถของบุคลากรเป็นระยะ ๆ เพื่อช่วยแก้ไขบุคลากรบางกลุ่ม ให้พัฒนาความสามารถเพิ่มขึ้นและในขณะเดียวกันก็ สนับสนุน ให้ผู้มีขีดความสามารถสูงได้ก้าวหน้าไปสู่ตำแหน่งใหม่ที่ต้องใช้ ความสามารถสูงขึ้น

             5. องค์การจะต้องจัดระบบทะเบียนบุคลากรให้เป็นปัจจุบัน ที่สามารถ ตรวจสอบความก้าวหน้าได้เป็นรายบุคคล

แนวความคิดของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม

   กลุ่มที่ 1 ให้นิยามการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ว่า หมายถึง การดำเนินการให้ บุคคลได้รับประสบการณ์และการเรียนรู้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อที่จะนำเอามา ปรับปรุงความสามารถในการทำงานโดยวิธีการ 3 ประการ คือ

1. การฝึกอบรม (training) เป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ โดยมุ่งเน้น เกี่ยวกับงานที่ปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน (present job) เป้าหมาย คือการยกระดับความรู้ ความสามารถ ทักษะ ของพนักงานในขณะนั้น ให้สามารถทำงานในตำแหน่งนั้นๆได้ ซึ่ง ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมไปแล้วสามารถนำความรู้ไปใช้ได้ทันที

2. การศึกษา (education) เป็นวิธีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยตรง เพราะ การให้การศึกษาเป็นการเพิ่มพูนความรู้ทักษะ ทัศนคติ ตลอดจนเสริมสร้างความสามารถ ในการปรับตัวในทุกๆด้านให้กับบุคคล โดยมุ่งเน้นเกี่ยวกับงานของพนักงานในอนาคต (future job) เพื่อเตรียมพนักงานให้มีความพร้อมที่จะทำงานตามความต้องการของ องค์กรในอนาคต

3. การพัฒนา (development) เป็นกระบวนการปรับปรุงองค์กรให้มี ประสิทธิภาพ เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่ไม่ได้มุ่งตัวงาน (not focus on a job) แต่มีจุดเน้น ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามที่องค์กรต้องการ และพร้อมที่จะปฏิบัติงานกับองค์กรใน อนาคต เพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยี รวมทั้งสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่าง รวดเร็ว



กลุ่มที่ 2 ให้นิยามการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ว่า หมายถึง การนำกิจกรรมที่มีการ กำหนดและวางรูปแบบอย่างเป็นระบบเพื่อใช้เพิ่มพูนความรู้ ทักษะ ความสามารถ และ ปรับปรุงพฤติกรรมของพนักงานให้ดีขึ้น โดยมุ่งเน้นการพัฒนาใน 3 ส่วน คือ
       1. การพัฒนาบุคคล (Individual Development)
       2. การพัฒนาสายอาชีพ (Career Development)
       3. การพัฒนา องค์การ (Organization Development)
       โดยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จะเกิดได้จากการนำเป้าหมายของบุคคล ซึ่งต้องให้ได้มาซี่งเป้าหมายของแต่ละคน เพื่อให้สอดรับกับเป้าหมายขององค์การที่ต้องการบุคคลากรประเภทใดทั้งในระยะ สั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยการนำการพัฒนาสายงานอาชีพเป็นตัวเชื่อมเป้าหมายของบุคคล กับเป้าหมายขององค์การนั้น
     


กลุ่มที่ 3 ให้นิยามการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ว่า หมายถึง การที่จะพัฒนาองค์การ ให้เป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) ซึ่งเป็นการบูรณาการระหว่างการเรียนรู้และงานเข้าด้วยกัน ซึ่งสามารถนำมารวมกันได้อย่างต่อเนื่องและเป็นระบบใน 3 ส่วน คือ
       1. ระดับบุคคล (Individual)
       2. ระดับกลุ่มหรือทีมผู้ปฏิบัติงาน (Work Group or Teams)
       3. ระดับระบบ โดยรวม (The System)

ซึ่งกระบวนการเรียนรู้สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ
       (1) การเรียนรู้จากประสบการณ์ (อดีต)
       (2) การเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ปัจจุบัน
       (3) การเรียนรู้เพื่อที่จะเตรียมตัวสำหรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

อันเป็นที่มาของ วินัย 5 ประการ (Disciplines of the Learning Organization) ประกอบด้วย

1. ความเชี่ยวชาญส่วนบุคคล (Personal Mastery)
2. กรอบแนวความคิด (Mental Models)
3. การร่วมวิสัยทัศน์ (Shared Vision)
4. การเรียนรู้ของทีม (Team Learning)
5. การคิดแบบเป็นระบบ(Systems Thinking)


2.การศึกษา

การศึกษา ในความหมายทั่วไปอย่างกว้างที่สุด เป็นวิธีการส่งผ่านจุดมุ่งหมายและธรรมเนียมประเพณีให้ดำรงอยู่จากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง โดยทั่วไป การศึกษาเกิดขึ้นผ่านประสบการณ์ใด ๆ ซึ่งมีผลกระทบเชิงพัฒนาต่อวิธีที่คนคนหนึ่งจะคิด รู้สึกหรือกระทำ แต่ในความหมายเทคนิคอย่างแคบ การศึกษาเป็นกระบวนการอย่างเป็นทางการซึ่งสังคมส่งผ่านความรู้ ทักษะ จารีตประเพณีและค่านิยมที่สั่งสมมาจากรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง นั่นคือ การสอนในสถานศึกษา สำหรับปัจจุบันนี้มีการแบ่งระดับชั้นทางการศึกษาออกเป็นขั้นๆ เช่น การศึกษาปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา ทั้งนี้รวมไปถึงระดับอาชีวศึกษา อุดมศึกษา และการฝึกงาน
สำหรับประเทศไทย มีกฎหมายบังคับให้ประชาชนไทยทุกคนต้องจบการศึกษาภาคบังคับ และสามารถเรียนได้จนจบการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ในปัจจุบันยังเปิดโอกาสให้มีการเรียนการสอนโดยผู้ปกครองที่บ้านหรือที่เรียกว่าฮมสคูลอีกด้วย
คำว่า "education" เป็นศัพท์จากภาษาลาติน ēducātiō ("การปรับปรุง,การอบรม") จาก ēdūcō ("ฉันรู้, ฉันฝึก") 
สำหรับการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มี 3 รูปแบบคือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย

การศึกษาในระบบ (formal education) เป็นการศึกษาที่กำหนดจุดมุ่งหมาย วิธีการศึกษา หลักสูตร ระยะเวลาของการศึกษา การวัดและการประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษาที่แน่นอน โดยการศึกษาในระบบ สามารถแบ่งออกได้ดังนี้
ระดับปฐมวัย
                 
ระดับปฐมวัยเป็นการจัดการศึกษาให้เด็กก่อนวัยที่ต้องศึกษาการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเป็นการวางรากฐานชีวิตเพื่อปูพื้นฐานที่ดีก่อนการเรียนในระดับต่อไป โดยทั่วไปแล้วผู้ที่เข้าศึกษาในระดับนี้มักมีอายุตั้งแต่ 4 - 8 ปี การเรียนการสอนในระดับนี้จะเน้นการสอนที่เกี่ยวข้องกับจิตวิทยาพัฒนาการของเด็ก ซึ่งเน้นในด้านการพัฒนาร่างกาย จิตใจ สังคม สติปัญญาและอารมณ์ของเด็ก นอกจากนี้ยังเน้นให้เด็กเรียนรู้ทักษะต่างๆผ่านกิจกรรมการเล่นและกิจกรรมเกมส์ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม และเกิดการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมเหล่านี้อีกด้วย ซึ่งการใช้เกมส์และการเล่นถือได้ว่าเป็นวิธีการหลักสำหรับสอนเด็กในระดับปฐมวัย โครงสร้างหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยจะมีจุดเน้นทั้งสิ้น 2 ด้านคือ ด้านประสบการณ์สำคัญ ประกอบไปด้วย ด้านร่างกาย ด้านอารมณ์จิตใจ ด้านสังคมและด้านสติปัญญา อีกด้านหนึ่งคือสาระที่ควรเรียนรู้ ประกอบไปด้วย เรื่องราวเกี่ยวกับตัวเด็ก เรื่องราวเกี่ยวกับบุคคลและสถานที่รอบตัวเด็ก ธรรมชาติรอบตัวและสิ่งต่างๆรอบตัวเด็ก


ระดับประถมศึกษา

ประถมศึกษาเป็นการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยทั่วไปแล้วการศึกษาในระดับประถมศึกษาจะมีระยะเวลาในการเรียนประมาณ 5 - 8 ปี ขึ้นอยู่กับการวางแผนจัดการศึกษาของแต่ละประเทศ สำหรับประเทศไทยมีจัดการเรียนการสอนในระดับชั้นประถมศึกษา 6 ปี ตั้งแต่ในระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงประถมศึกษาปีที่ 6 โดยผู้เข้าศึกษาในระดับประถมศึกษามักจะมีอายุประมาณ 6-7 ปี โดยในปัจจุบันนี้ยังมีเด็กกว่า 61 ล้านคนที่ไม่มีโอกาสได้เรียนในระดับประถมศึกษา ซึ่ง 47% ในจำนวนนี้จะหมดโอกาสการเข้าศึกษาต่ออย่างสิ้นเชิง[5] อย่างไรก็ตาม UNESCO ได้พยายามสนับสนุนให้เกิดการศึกษาสำหรับทุกคน โดยได้ดำเนินการที่เรียกว่าการศึกษาเพื่อปวงชน ซึ่งทุกประเทศจะต้องประสบความสำเร็จในด้านจำนวนคนเข้าศึกษาในระดับประถมศึกษาตามประกาศของ UNESCO ภายในปี พ.ศ. 2558 หลังจากนักเรียนจบชั้นประถมศึกษาแล้วจะสามารถเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาได้ ซึ่งนักเรียนเหล่านี้มักจะมีอายุประมาณ 11 - 13 ปี


ระดับมัธยมศึกษา


การเรียนการสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษา
มัธยมศึกษาเป็นการจัดการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยจัดการศึกษาให้กับนักเรียนที่จบในระดับประถมศึกษามาแล้ว สำหรับผู้เรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษามักจะมีอายุประมาณ 11 - 18 ปี สำหรับการจัดการศึกษาในระดับมัธยมศึกษามีจุดประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้และทักษะกระบวนการเฉพาะด้าน เพื่อนำไปใช้ในการศึกษาระดับสูงต่อไป สำหรับประเทศโดยส่วนใหญ่แล้วการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาถือได้ว่าเป็นการศึกษาภาคบังคับ สำหรับประเทศไทย นักเรียนจะต้องจบการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จึงจะถือว่าจบการศึกษาภาคบังคับ อย่างไรก็ตามหลังจากจบระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นแล้ว นักเรียนสามารถเลือกที่จะหยุดเรียนแล้วออกไปประกอบอาชีพ หรือ เรียนต่อก็ได้ ในกรณีที่เรียนต่อจะมี 2 ระบบให้เลือกเรียน ระหว่างสายสามัญ ซึ่งเป็นการเรียนต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยมีการจัดการเรียนการสอนที่เป็นพื้นฐานสำหรับการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา และสายอาชีพ ซึ่งจะสอนเกี่ยวกับอาชีพทางด้านต่างๆ เช่น งานช่าง และเกษตรกรรม เป็นต้น โดยทั้งหมดนี้รัฐบาลไทยจะเป็นผู้ดำเนินการทางด้านค่าใช้จ่ายทั่วไปจนจบระดับชั้นมัธยมศึกษา


ระดับอาชีวศึกษา
                       


อาชีวศึกษาเป็นการศึกษาเพื่อเตรียมคนสำหรับการประกอบอาชีพในอนาคต ทั้งในด้านของงานช่างฝีมือ งานธุรกิจ งานวิศวกรรม และงานบัญชี โดยเป็นการศึกษาเพื่อให้ผู้เรียนสามารถปฏิบัติงานได้จริงๆ ซึ่งแตกต่างจากการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่เน้นให้มีความรู้พื้นฐานมากเพียงพอสำหรับศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย การศึกษาในระดับอาชีวศึกษาจะเน้นให้มีการฝึกงาน เพื่อเสริมสร้างให้ผู้เรียนมีประสบการณ์มากยิ่งขึ้น สำหรับประเทศไทยเริ่มมีการจัดการเรียนการสอนในสายอาชีพตั้งแต่ปี พ.ศ. 2452 โดยในสมัยนั้นเน้นจัดการเรียนการสอนทางด้าน แพทย์ ผดุงครรภ์ ภาษาอังกฤษ พาณิชยการ และครู


ระดับอุดมศึกษา

การศึกษาในระดับอุดมศึกษา (tertiary, third stage,post secondary education) เป็นการศึกษาที่ไม่ได้บังคับว่าต้องจบการศึกษาในระดับนี้ การศึกษาในระดับนี้เป็นการศึกษาที่สูงขึ้นมาจากการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา การศึกษาในระดับอุดมศึกษานั้นแบ่งได้ออกเป็น 2 ระดับคือระดับปริญญาบัณฑิตและระดับบัณฑิตศึกษา สำหรับการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยเป็นผู้ดำเนินการ หากผู้เข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาเรียนจบแล้วจะได้รับปริญญาบัตรเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงการผ่านหลักสูตรนั้นๆ
การที่จะเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้นั้นจำเป็นต้องผ่านการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อก่อน ส่งผลให้วิธีการนี้ทำให้มีทั้งผู้ที่ได้สิทธิ์ศึกษาต่อและผู้ที่ไม่ได้สิทธิ์ศึกษาต่อ สำหรับการศึกษาในระดับอุดมศึกษามีความสำคัญมากในการสมัครงาน เพราะมักมีการกำหนดวุฒิการศึกษาขั้นต่ำในระดับปริญญาตรี นอกจากนี้ยังมีความสำคัญในการพัฒนากำลังคนในการพัฒนาประเทศชาติอีกด้วย
ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยมีทั้งมหาวิทยาลัยที่เป็นของรัฐ มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ และมหาวิทยาลัยเอกชน




                                                          การศึกษาพิเศษ
                         
การศึกษาพิเศษเป็นการจัดการศึกษาสำหรับผู้ที่มีความต้องการพิเศษ ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องสนับสนุนงบประมาณและสาธารณูปโภคต่างๆเพื่อสนับสนุนการศึกษาในรูปแบบนี้ โดยกลุ่มที่มีความต้องการพิเศษแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ เด็กที่มีปัญญาเลิศ ซึ่งจะเน้นการพัฒนาความสามารถและความถนัดเฉพาะของบุคคล อีกประเภทหนึ่งคือเด็กที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกายหรือสติปัญญา โดยการจัดการศึกษาจะเน้นการเรียนการสอนรายบุคคล ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ในห้องเรียนปกติ รวมไปถึงพัฒนาทักษะการดำรงชีวิตให้กับผู้ที่มีความต้องการพิเศษให้สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้


การศึกษานอกระบบ

ตามความในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 ได้ให้นิยามเกี่ยวกับการศึกษานอกระบบโรงเรียน ความว่าเป็นการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นในการกำหนดจุดมุ่งหมาย รูปแบบ วิธีการจัดการศึกษา ระยะเวลาของการศึกษา การวัดและประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสำเร็จการศึกษา โดยเนื้อหาและหลักสูตรจะต้องมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของบุคคลแต่ละกลุ่ม ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนนอกระบบโรงเรียนจะเป็นการจัดให้กับผู้ที่ไม่ได้อยู่ในระบบโรงเรียนหรือผ่านจากระบบโรงเรียนมาแล้ว โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ที่เข้าศึกษานอกระบบโรงเรียนมักเป็นผู้ใหญ่เป็นส่วนมาก เพื่อเรียนรู้การอ่านออกเขียนได้และนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้กับอาชีพของตัว สำหรับประเทศไทยมีการจัดการเรียนการสอนรูปแบบการศึกษานอกโรงเรียนอยู่เป็นจำนวนมาก โดยนิยมจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ชุมชนหรือศูนย์การเรียนรู้นอกระบบโรงเรียน เพื่อให้ประชาชนเข้ามาเรียนรู้ได้ โดยภายในศูนย์จะมีอาจารย์ประจำและอาจารย์อาสาสมัครเป็นผู้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนอกจากนี้แล้วการศึกษานอกระบบโรงเรียนยังมีการจัดการศึกษาในรูปแบบอื่นๆด้วย เช่น การศึกษาผู้ใหญ่ การศึกษาชุมชน เป็นต้น


การศึกษาตามอัธยาศัย (Informal Education)
                  
    การศึกษาตามอัธยาศัย (Informal Education) โดยพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 ได้ให้ความหมายของการศึกษาตามอัธยาศัยว่าเป็นการศึกษาที่ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเอง ตามความสนใจ ศักยภาพ ความพร้อมและโอกาส โดยศึกษาจากบุคคล ประสบการณ์ สังคม สิ่งแวดล้อม สื่อ หรือแหล่งความรู้อื่น ดังนั้นถือได้ว่าการศึกษาตามอัธยาศัยเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้เช่นเดียวกัน สำหรับการเรียนรู้ตามอัธยาศัยสามารถจำแนกออกได้เป็น 3 ประเภท คือ การเรียนรู้ด้วยการนำตัวเอง การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญและการเรียนรู้ในชีวิตประจำวัน
การศึกษาตามอัธยาศัยมักเป็นการศึกษาที่เกิดขึ้นภายนอกห้องเรียน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับหลักสูตรโดยเฉพาะเจาะจงและมักเกิดขึ้นโดยความบังเอิญ ดังนั้นส่งผลให้การศึกษาในประเภทนี้เกิดขึ้นได้ในทุกๆสถานที่ ทั้งที่บ้าน โรงเรียนและที่อื่นๆ ซึ่งเป็นการศึกษาเพียงรูปแบบเดียวของมนุษย์เท่านั้นที่จำเป็นต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต

การศึกษาทางเลือก

การศึกษาทางเลือกเป็นการศึกษาที่มีความแตกต่างจากการศึกษาในกระแสหลัก โดยยึดความต้องการของชุมชนในท้องถิ่นเป็นหลัก ใช้กระบวนการสอนที่มีความหลากหลายรูปแบบ และหยิบยกปรัชญาการศึกษาหลายๆปรัชญาเข้ามาประยุกต์ใช้ โดยการศึกษาในรูปแบบนี้ถือได้ว่าเป็นการศึกษาที่เป็นอุดมคติ และลดบทบาทของการจัดการศึกษาในรูปแบบของโรงเรียนลง สำหรับการจัดการศึกษาทางเลือกนั้นมีทั้งรูปแบบที่เรียนในโรงเรียนการศึกษาทางเลือก โฮมสคูล รวมไปถึงรูปแบบอันสคูลลิ่ง สำหรับโรงเรียนการศึกษาทางเลือกในประเทศไทยยกตัวอย่างเช่น โรงเรียนรุ่งอรุณ เป็นต้น
นักการศึกษาที่มีแนวคิดเรื่องการศึกษาทางเลือกและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ยกตัวอย่างเช่น รูดอร์ฟ สไตเนอร์ และมาเรีย มอนเตสเซอรี


                                3.การเรียนรู้

การเรียนรู้ หมายถึง การได้รับความรู้ พฤติกรรม ทักษะ คุณค่า หรือความพึงใจ ที่เป็นสิ่งแปลกใหม่หรือปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่  นอกจากนั้นยังมีนักจิตวิทยาหลายท่านให้ความหมายของการเรียนรู้ไว้ ดังนี้
ฮิลการ์ด และ เบาเวอร์ (Hilgard & Bower) “การเรียนรู้ เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม อันเป็นผลมาจากประสบการณ์และการฝึก ทั้งนี้ไม่รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมที่เกิดจากการตอบสนองตามสัญชาตญาณ ฤทธิ์ของยา หรือสารเคมี หรือปฏิกิริยาสะท้อนตามธรรมชาติของมนุษย์
คอนบาค ( Cronbach ) “การเรียนรู้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลง อันเป็นผลเนื่องมาจากประสบการณ์ที่แต่ละบุคคลประสบมา
พจนานุกรมของเวบสเตอร์ (Webster ‘s Third New International Dictionary) “การเรียนรู้ คือ กระบวนการเพิ่มพูนและปรุงแต่งระบบความรู้ ทักษะ นิสัย หรือการแสดงออกต่างๆ อันมีผลมาจากสิ่งกระตุ้นอินทรีย์โดยผ่านประสบการณ์ การปฏิบัติ หรือการฝึกฝน
สรุป จากความหมายที่นักจิตวิทยาได้ให้นิยามความหมายไว้ การเรียนรู้จึงหมายถึง การเปลี่ยนแปลงของบุคคลอันมีผลเนื่องมาจากการได้รับประสบการณ์ โดยการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นเหตุทำให้บุคคลเผชิญสถานการณ์เดิมแตกต่างไปจากเดิม
           
จุดมุ่งหมายของการเรียนรู้
               
            จุดมุ่งหมายของการเรียนรู้ มุ่งพัฒนาผู้เรียนใน 3 ด้าน ดังนี้
1.            ด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain) คือ ผลของการเรียนรู้ที่เป็นความสามารถทางสมอง ครอบคลุมพฤติกรรมประเภท ความจำ ความเข้าใจ การนำไปใช้ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์และประเมินผล
2.            ด้านเจตพิสัย (Affective Domain ) คือ ผลของการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงด้านความรู้สึก ครอบคลุมพฤติกรรมประเภท ความรู้สึก ความสนใจ ทัศนคติ การประเมินค่าและค่านิยม
3.            ด้านทักษะพิสัย (Psychomotor Domain) คือ ผลของการเรียนรู้ที่เป็นความสามารถด้านการปฏิบัติ ครอบคลุมพฤติกรรมประเภท การเคลื่อนไหว การกระทำ การปฏิบัติงาน การมีทักษะและความชำนาญ




องค์ประกอบของการเรียนรู้
                       
องค์ประกอบของการเรียนรู้ การที่ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้ในปริมาณมากน้อย หรือมีประสิทธิภาพเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับองค์ประกอบต่าง ๆ หลายประการ ดังนี้
1.            แรงจูงใจ (Motive) คนเราจะเรียนรู้ได้ดีหากเขามีแรงจูงใจสูงในบทเรียน ที่เขาจะเรียน เช่น เรื่องนั้นแปลกใหม่ น่าตื่นเต้น
2.            กระบวนการสอน (Teaching procedure) กระบวนการสอนต้องดีพอ หากกระบวนการสอนของครูไม่ดีพอ ก็อาจส่งผลให้การเรียนรู้ของผู้เรียนขาดประสิทธิภาพได้
3.            กระบวนการเรียน (Studying Procedure) การเรียนรู้ของคนเรานั้น เกิดจากการที่ประสาทสัมผัส (Sense) ได้รับการเร้าจากสิ่งเร้า (Stimulus) บุคคลจะสามารถเรียนรู้และเข้าใจสิ่งเร้านั้นได้ถูกต้องมากน้อยเพียงใดก็ย่อมขึ้นอยู่กับระดับความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้านั้น
ความสำคัญของการจัดการเรียนรู้ ก็คือเป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความเจริญงอกงามในทุกๆด้าน ทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์สังคม และสติปัญญา สามารถดำรงชีวิตอย่างเป็นสุขและเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม


                                                      3.หลักสูตร















2.ศึกษาทำความเข้าใจเพิ่มเติมจาก สุเทพ อ่วมเจริญ การพัฒนาหลักสูตร :  ทฤษฎีและการปฏิบัติ การพัฒนาหลักสูตร : นิยาม ความหมาย ”
ตอบ
กระบวนการพัฒนาหลักสูตรตามแนวคิดแบบจำลอง SU Model    ดร.สุเทพ อ่วมเจริญ
กระบวนการพัฒนาหลักสูตร (สามเหลี่ยมใหญ่) จะประกอบด้วยขั้นตอนในการจัดทำหลักสูดร (สามเหลี่ยมเล็กๆ 4 ภาพ) โดยประกอบด้วย 4 ขั้นตอนดังนี้
1.  สามเหลี่ยมแรก การวางแผนหลักสูตร (Curriculum Planning) อาศัยแนวคิดพัฒนาหลักสูตรของไทเลอร์คำถามที่หนึ่งคือ มีจุดมุ่งหมายอะไรบ้างในการศึกษาที่โรงเรียนต้องแสวงหา เพื่อนำไปวางแผ่นหลักสูตร กำหนดจุดหมายหลักสูตร
2.   สามเหลี่ยมรูปที่สอง การออกแบบ (Curriculum Design) นำจุดหมายและจุดมุ่งหมายของหลักสูตรมาจัดทำกรอบการปฏิบัติ ม่งเน้นให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาตามกระบวนการของหลักสูตร สอดคล้องกับคำถามที่สองของไทเลอร์คือมีประสบการณ์ศึกษาอะไรบ้างที่โรงเรียนควรจัดเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายในการศึกษา การออกแบบหลักสูตรเพื่อให้มีจัดกิจกรรมหรือประสบการณ์ที่ตอบสนองจุดหมายและจุดมุ่งหมายของหลักสูตร
3.   สามเหลี่ยมรูปที่สาม การจัดระบบหลักสูตร (Curriculum Organize) จัดหลักสูตรเพื่อตอบสนองการวางแผนหลักสูตร สองคล้องกับคำถามที่สามของไทเลอร์ คือ จัดประสบการณ์เรียนรู้อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ การจัดระบบหลักสูตรให้ได้ประสิทธิภาพมีความหมายรวมถึงการบริหารที่สนับสนุนการจัดการเรียนรู้ และรวมถึงการนิเทศการศึกษา

4.   สามเหลี่ยมรูปที่สี่ การประเมิน (CurriculumEvaluation) ประเมินทั้งระบบหลักสูตรและผลการเรียนรู้ตามหลักสูตร สอดคล้องคำถามที่สี่ของไทเลอร์ คือ ประเมินประสิทธิผลของประสบการณ์ในการเรียนอย่างไร


พื้นฐานแนวคิด SU Model มาจากการพัฒนาสามเหลี่ยมมุมบน มุ่งเน้นให้การศึกษา 3 ส่วน คือ จริยศึกษา เป็นการอบรมศีลธรรมอันดีงาม พุทธิศึกษา ให้ปัญญาความรู้ และพลศึกษา เป็นการฝึกหัดให้มีร่างกายสมบูรณ์ เมื่อนำมาใช้จะได้ว่า เป้าหมายหมายของสูตรจะมุ่งเน้นให้เกิด ความรู้ (knowledge) พัฒนาผู้เรียน (leader) และสังคม (society) มุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนเป็นคนที่ “เก่ง ดี มีสุข” การพัฒนาหลักสูตรจะประกอบไปด้วย 3 ด้าน คือ ด้านปรัชญาการศึกษา ด้านจิตวิทยา และด้านสังคม มีการพัฒนาหลักสูตรจากรูปสามเหลี่ยมไปสู่การวางแผนหลักสูตร การออกแบบหลักสูตร การนำหลักสูตรไปใช้ และการประเมินหลักสูตร ดังภาพ SU Model มีขั้นตอนดังนี้
1.    เริ่มจากวงกลม หมายถึง จักรวาลแห่งการเรียนรู้ รูปสามเหลี่ยมด้านเท่าหมายถึง กระบวนการพัฒนาหลักสูตร
2.    ระบุพื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตร ในพื้นที่วงกลมซึ่งมีพื้นฐานหลากหลายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาหลักสูตร ระบุพื้นฐาน 3 ด้าน (ปรัชญาจิตวิทยาสังคม)  ลงในช่องว่างนอกรูปโดยกำหนดให้ด้านสามเหลี่ยมระหว่างความรู้กับผู้เรียนมีพื้นฐานสำคัญคือ พื้นฐานด้านปรัชญา  ด้านสามเหลี่ยมระหว่างผู้เรียนกับสังคมมีพื้นฐานผู้เรียนกับสังคมมีพื้นฐานสำคัญคือ พื้นฐานด้านจิตวิทยา และด้านสามเหลี่ยมระหว่างสังคมกับความรู้มีพื้นฐานสำคัญคือ พื้นฐานด้านสังคม
3.   พื้นฐานด้านปรัชญา ได้แนวคิดว่าการพัฒนาหลักสูตรที่มีจุหมายของหลักสูตรที่มุ่งเน้นความรู้ มาจากพื้นฐานสามรัตถนิยมกับปรัชญานิรันตรนิยม การพัฒนาหลักสูตรที่มีจุดมุ่งหมายของหลักสูตรที่มุ่งเน้นผู้เรียน มาจากพื้นฐานปรัชญาอัตถิภาวะนิวม และการพัฒนาหลักสูตรที่มีจุดหมายของหลักสูตรที่มุ่งเน้นสังคม มาจากพื้นฐานปรัชญาปฏิรูปนิยม
4.   กำหนดจุดกึ่งกลางของด้านสามเหลี่ยมทั้งสามด้าน เพื่อแทนความหมายว่าในการพัฒนาหลักสูตรต้องใช้ข้อมูลพื้นฐานด้านปรัชญา จิตวิทยา และสังคม
5.   พิจารณากระบวนการพัฒนาหลักสูตร นำแนวคิดกระบวนการพัฒนาหลักสูตรมากำหนดชื่อสามเหลี่ยมเล็กๆทั้งสี่รูป ได้แก่ การวางแผนหลักสูตร การออกแบบหลักสูตร การจัดหลักสูตร และการประเมินหลักสูตร
หลักสูตรที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญมีพื้นฐานที่สำคัญจากปรัชญาพิพัฒนาการ ที่มีความเชื่อว่าสาระสำคัญและความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลายนั้นไม่ได้หยุดนิ่ง ฉะนั้นวิธีการทางการศึกษาจึงต้องพยายามปรับปรุงให้สอดคล้องกับกาลเวลาและสภาพแวดล้อมอยู่เสมอ

หลักการสำคัญในการนำหลักสูตรไปใช้ได้ดังนี้
1.   มีการวางแผนและเตรียมการในการนำหลักสูตรไปใช้ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องควรจะได้ศึกษาวิเคราะห์ ทำความเข้าใจหลักสูตรที่จะนำไปใช้ให้มีความเข้าใจตรงกันเพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปในทำนองเดียวกันและสอดคล้องต่อเนื่องกัน
2.   มีคณะบุคคลทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นที่จะต้องทำหน้าที่ประสานงานกันเป็นอย่างดี ในแต่ละขั้นตอนในการนำหลักสูตรไปใช้ 
3.   ดำเนินการอย่างเป็นระบบเป็นไปตามขั้นตอนที่วางแผนและเตรียมการไว้การนำหลักสูตรไปใช้จะต้องคำนึงถึงปัจจัยสำคัญ ที่จะช่วยให้การนำหลักสูตรไปใช้ประสบความสำเร็จได้ ปัจจัยต่างๆ ได้แก่ งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ เอกสารหลักสูตรต่าง ตลอดจนสถานที่ต่างๆ ที่จะเป็นแหล่งให้ความรู้ประสบการณ์ต่างๆ สิ่งเหล่านี้จะต้องได้รับการจัดเตรียมไว้เป็นอย่างดี และพร้อมที่จะให้การสนับสนุนได้เมื่อได้รับการร้องขอ
4.  ครูเป็นบุคลากรที่สำคัญในการนำหลักสูตรไปใช้ ดังนั้นครูจะต้องได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่และจริงจัง ตั้งแต่การอบรมความรู้ ความเข้าใจทักษะและเจตคติเกี่ยวกับการใช้หลักสูตรอย่างเข้มข้น 
5.  การนำหลักสูตรไปใช้ควรจัดตั้งให้มีหน่วยงานที่มีผู้ชำนาญการพิเศษ เพื่อให้การสนับสนุนและพัฒนาครูโดยการทำหน้าที่นิเทศ ติดตามผลการนำหลักสูตรไปใช้ และควรปฏิบัติงานร่วมกับครูอย่างใกล้ชิด
6.  หน่วยงานและบุคลากรในฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนำหลักสูตรไปใช้ ไม่ว่าจะเป็นส่วนกลางหรือส่วนท้องถิ่นต้องปฏิบัติงานในบทบาทหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่และเต็มความสามารถ
7.  การนำหลักสูตรไปใช้สำหรับผู้ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทุกหน่วยงาน จะต้องมีติดตามและประเมินผลเป็นระยะๆ เพื่อจะได้นำข้อมูลต่างๆ มาประเมินวิเคราะห์ เพื่อพัฒนาทั้งในแง่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลง และการวางแนวทางในการนำหลักสูตรไปใช้ ให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

                                                        พื้นฐานการพัฒนาหลักสูตรด้านปรัชญา
                                               


                                                      พื้นฐานการพัฒนาหลักสูตรด้านจิตวิทยา

                                                

                                                        พื้นฐานการพัฒนาหลักสูตรด้านสังคม
                                                   


การจัดการเรียนการสอนตามแนวคิด SU Model
จากกระบวนการพัฒนาหลักสูตร(สามเหลี่ยมใหญ่) จะประกอบด้วยขั้นตอนใน การจัดทำหลักสูตร (สามเหลี่ยมเล็ก ๆ 4 ภาพ) โดยประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ 1) การวางแผนหลักสูตร : หลักสูตรอิงมาตรฐาน (ความรู้ การปฏิบัติ และคุณลักษณะ) 2) การออกแบบหลักสูตร : หลักสูตรที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ 3)การจัดหลักสูตร : เพื่อการนำหลักสูตรไปปฏิบัติ(การจัดการเรียนรู้และการจัดการชั้นเรียน) : การจัดหลักสูตรจะคำนึงถึงมาตรฐานและตัวชี้วัด TQF และ 4) การประเมินการเรียนรู้ : การประเมินหลักสูตรคุณภาพหลักสูตร ข้อมูลสำคัญ ส่วนหนึ่งได้มาจากการประเมินการเรียนรู้ของผู้เรียนในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน การนำแนวคิด SU Model มาปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอน ดังนี้  
                 ใช้คำถามสร้างความคิดเกี่ยวกับ การทำความกระจ่างในความรู้ ความรู้และทักษะอะไร ที่เป็น
ความจำเป็นที่ผู้เรียนได้รับหลังจากเรียนรู้ การวางแผนการเรียนรู้ด้วยการกำหนดจุดมุ่งหมายการเรียนรู้ (Learning Goal) และออกแบบการเรียนรู้ โดยมีลำดับดังนี้ 
1.  ผู้เรียนกำหนดกรอบวัตถุประสงค์การเรียนรู้ของตนเอง ด้วยการระบุความรู้และการปฏิบัติ โดยระบุ
ความรู้ในรูปของสารสนเทศหรือdeclarative knowledge  และระบุทักษะการปฏิบัติ(โครงงาน งาน ภาระงาน)  กลยุทธ์ทักษะหรือกระบวนการ หรือ procedural knowledge และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ใน ขั้นตอนนี้มาร์ซาโน(Marzano, R.J.2007)  กล่าวว่าเป็นขั้นตอนของการระบุจุดมุ่งหมายในการเรียนรู้
(learning goal)  ข้อมูลที่ได้ต้องมีความชัดเจนทั้งในเรื่องของจุดมุ่งหมายและระดับคุณภาพของการ
เรียนรู้โดยที่จุดมุ่งหมายการเรียนรู้จะถูกระบุไว้ว่าผู้เรียนจะต้องเรียนรู้อะไรและหรือสามารถที่จะทำอะไรได้ 
2.   ผู้เรียนออกแบบการเรียนรู้และระบุเกณฑ์คุณภาพวัตถุประสงค์การเรียนรู้เป็นค่าระดับตาม
โครงสร้างการสังเกตผลการเรียนรู้ (structure of observed learning out-comes : SOLO Taxonomy) 
3.   ผู้เรียนออกแบบการเรียนรู้หรือเลือกกลยุทธ์การเรียนรู้ ที่จะช่วยให้ประสบความสำเร็จในการ เรียนรู้
ในกรณีที่วัตถุประสงค์เป็นความรู้ความเข้าใจ จะระบุเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน(collaborative learning) หรือการเรียนรู้แบบนำตนเอง(self-directed learning) โดยคำนึงถึงความมีประสิทธิผลและมีประสิทธิภาพ ถ้าผู้เรียนต้องการการเรียนรู้แบบการมีความคิดวิจารณญาณ จำเป็นจะต้องใช้เทคนิคการเรียนรู้แบบร่วมมือกัน (cooperative learning) มีการอภิปรายเรื่องราวที่เรียนรู้ กลยุทธ์การเรียนรู้แบบทำงานเป็นทีม หรือกลยุทธ์การ เรียนรู้เพื่อการบรรลุวัตถุประสงค์ เป็นต้น
แนวคิดการสร้างความรู้และการวางแนวทางเพื่อการเรียนรู้  
1.   ผู้เรียนสร้างความเข้าใจด้วยตนเองผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ โดยที่มีกิจกรรมการเรียนรู้ที่เข้าใจ ง่ายจะช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ได้ดียิ่ง 
2.   ในการเรียนรู้ผู้เรียนต้องเป็นผู้ปฏิบัติด้วยตนเองเสมอ ความสำคัญในการเรียนรู้อยู่ที่ผู้เรียนได้ เรียนรู้อะไรมากกว่าที่จะระบุว่าผู้สอนสอนอะไรหรือทำอะไร
3.   การวางแนวทางเพื่อการเรียนรู้หมายถึงการกระทำใด ๆ ของผู้สอนที่ช่วยส่งเสริมสนับสนุน กิจกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนให้บรรลุวัตถุประสงค์การเรียนรู้  
4.   วิธีการสอนและการประเมินการเรียนรู้จะเป็นการวางแนวทางในการออกแบบการจัด กิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์การเรียนรู้  
5.  การวางแนวทางการประเมินด้วยการระบุระดับคุณภาพการเรียนรู้เป็นวิถีทางที่จะนำผู้เรียน ให้ประสบความสำเร็จในการเรียนรู้จากการวัดผลการเรียนรู้ของตนเอง   คำถามในขั้นตอน การเลือกรับและการทำความเข้าใจสารสนเทศใหม่ ดังตัวอย่าง   ผู้เรียนจะกระทำอะไรหรือปฏิบัติอะไรที่แสดงว่าผู้เรียนบรรลุจุดมุ่งหมายในการเรียนรู้   ผู้เรียนจะมีปฏิสัมพันธ์(วิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมิน) กับแหล่งเรียนรู้ที่เป็นบทเรียนอย่างไร ผู้เรียนจะได้รับหรือมีส่วนร่วมในการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้นั้น ๆ อย่างไร
                                           
                                              
ตัวอย่าง การปรับใช้แนวคิด SU Model ในการเรียนการสอน  การนำแนวคิด  SU Model ไปใช้ในการเรียนรู้วิชาชีพครู เรื่อง หลักสูตรและจัดการเรียนรู้ เขียน แผนภาพประกอบแนวคิดได้ดังนี้

เป้าหมายของหลักสูตร :
1. ความรู้ (Knowledge) 
2. ผู้เรียน (Learners)
3. สังคม (Society)   
พื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตร :
1. พื้นฐานด้านปรัชญา  (Philosophy) 
2. พื้นฐานด้านจิตวิทยา (Psychology)   
3. พื้นฐานด้านสังคม (Social)
การจัดการเรียนรู้ตามแบบจำลอง SU Model ที่เป็นแนวคิดในการจัดการศึกษาเพื่อมุ่งพัฒนาให้ ผู้เรียนเป็นคนเก่ง คนดี และมีความสุข ดังตัวอย่างในการเรียนรู้เรื่องหลักสูตรและจัดการเรียนรู้ โดยที่เมื่อดำเนินการตามแผนภาพดังกล่าวแล้วช่วยให้ผู้เรียนบรรลุจุดประสงค์คือ เป็นคนดี มีความสุขและเป็นคนเก่ง  ดัง รายละเอียดต่อไปนี้
เป้าหมายของหลักสูตร : คนเก่ง  จากแบบจำลอง  SU Model  สามเหลี่ยมรูปที่อยู่มุมบนสุด จะพบว่า มุมของสามเหลี่ยมใหญ่ เป้าหมายของหลักสูตร กำกับด้วยข้อความว่าKnowledge ซึ่งหมายถึง หลักสูตรมีเป้าหมายที่ความรู้ ผู้เรียนมีความรู้-คนเก่ง โดยข้อมูลพื้นฐานสำคัญประกอบด้วย พื้นฐานด้านปรัชญา พื้นฐานด้านจิตวิทยาและพื้นฐานด้านสังคม ซึ่งมีพื้นฐานปรัชญาการศึกษาสำคัญสองปรัชญาคือ ปรัชญาสารัตถนิยม และปรัชญานิรันตรนิยม และข้อมูลพื้นฐานด้านสาขาวิชา โดยที่การเรียนการสอนจะสนับสนุนให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามสภาพจริง มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรมที่มีความเคร่งครัด ความถูกต้องแม่นยำ(Rigor) มีทักษะเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศและรู้เท่าทันสื่อผู้เรียนจะมีบทบาทสำคัญในกลยุทธการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ที่เหมือนจริงหรือใกล้เคียงกับความจริงในลักษณะ Blended Learning อันเป็นกลยุทธ์การเรียนรู้แบบบูรณาการ ที่มุ่งเพิ่มประสิทธิผลสูงสุดในการเรียนรู้และลดค่าใช้จ่าย ด้วยการใช้กลไกในการรับส่งสารสนเทศมาเป็นจุดแข็ง ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ที่ตอบสนองความต้องการของผู้เรียน มิใช่เป็นไปตามความสนใจของผู้สอนเท่านั้น ผู้เรียน ปฏิบัติการเรียนรู้ลงมือทำด้วยตนเองก่อนแล้วผู้สอนจึงจะมีบทบาทในการแนะนำ/ชี้แจงเชื่อมโยงให้ผู้เรียนเกิด องค์ความรู้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถสร้างความรู้ได้ด้วยตนเองและความรู้นั้นยัง คงทนอีกด้วย กล่าวโดยสรุปเป้าหมายที่มุ่งให้ผู้เรียนเป็นคนเก่ง เมื่อนำมาปรับใช้ในขั้นตอนการสร้างองค์ความรู้ ด้วยตนเอง คือขั้นการวางแผนและขั้นการออกแบบ ผลผลิตที่ได้จากขั้นตอนนี้เรียกว่า สาระความรู้และเกณฑ์ คุณภาพของการเรียนรู้
เป้าหมายของหลักสูตร : คนดี  จากแบบจำลอง  SU Model  สามเหลี่ยมรูปที่อยู่มุมล่างซ้ายมือ  จากภาพจะพบว่า มุมของสามเหลี่ยมใหญ่ เป้าหมายของหลักสูตรกำกับด้วยข้อความว่า Learner ซึ่งหมายถึง หลักสูตรมีเป้าหมายที่ผู้เรียน เป็นคนดี  โดยข้อมูลพื้นฐานสำคัญประกอบด้วยพื้นฐานด้านจิตวิทยาและพื้นฐานด้านสังคม ซึ่งมีพื้นฐานปรัชญาการศึกษาที่เกี่ยวข้องคือ อัตถิภาวะนิยมเป็นปรัชญาที่ให้ความเป็นอิสระในการเลือกที่จะเรียนรู้และในการเลือกต้องรับผิดชอบในผลที่ตามมาของการเลือกนั้นด้วยและข้อมูลพื้นฐานด้านผู้เรียน โดยที่การเรียนการสอนจะสนับสนุนให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามทฤษฎีการเรียนรู้ของมนุษย์  มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีทักษะชีวิตและอาชีพ สามารถแสดงออกซึ่งความสัมพันธ์(Relevance) อันเป็นผลจากการมีทักษะเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศและ รู้เท่าทันสื่อ เป็นผู้ที่ยึดมั่นในหลักศีลธรรมและคุณธรรมของศาสนา มีหลักการทางประชาธิปไตยในการดำรงชีวิต ปฏิบัติตนตามกฎหมายดำรงตนเป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อันจะก่อให้เกิดการพัฒนา สังคมและประเทศชาติ กล่าวโดยสรุปได้ว่า มุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนเป็น คนดี หมายถึง ผู้ที่มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ทั้งในด้านพฤติกรรมที่แสดงออกและด้านจิตใจ  เป็นคนที่มีคุณธรรม มีเหตุผล รู้หน้าที่ รับผิดชอบ มีวินัย ขยัน อดทน ประหยัด ซื่อสัตย์ เสียสละ มีค่านิยมประชาธิปไตย ประกอบด้วยการเห็นคุณค่าของตนเองและผู้อื่น การ เคารพความคิดเห็นและสิทธิของผู้อื่น ทำหน้าที่ของตนเองอย่างสมบูรณ์ เคารพกติกาสังคมและสามารถอยู่ ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข กล่าวโดยสรุปเป้าหมายที่มุ่งให้ผู้เรียนเป็นคนดี เมื่อนำมาปรับใช้ในขั้นตอนการ สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง คือขั้นการจัด(หลักสูตร-การเรียนรู้และการจัดการชั้นเรียน) ผลผลิตที่ได้จากขั้นตอนนี้ เรียกว่า การเรียนรู้พัฒนา HOTS  
             เป้าหมายของหลักสูตร : มีความสุข  จากแบบจำลอง  SU Model  สามเหลี่ยมรูปที่อยู่มุมล่างขวามือ  จากภาพจะพบว่า มุมของ สามเหลี่ยมใหญ่ เป้าหมายของหลักสูตรกำกับด้วยข้อความว่า  Society ซึ่งหมายถึง เป้าหมายด้านสังคม มุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนอยู่ในสังคมที่มีความสุขโดยข้อมูลพื้นฐานสำคัญประกอบด้วย พื้นฐานด้านจิตวิทยาและพื้นฐานด้านสังคม ซึ่งมีพื้นฐานปรัชญาการศึกษาที่เกี่ยวข้องคือ ปรัชญาปฏิรูปนิยม (Reconstructionism) และข้อมูลพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการจัดการเรียนการสอนจะมุ่งเน้นความสุขในการเรียนรู้ โดยสอดแทรกไว้ในกิจกรรมการเรียนการสอนสามารถแสดงออกซึ่งความสัมพันธภาพ(Relationships)  ในการศึกษาเรียนรู้และนำเสนอกระบวนการการพัฒนาหลักสูตร นักศึกษาจะได้รับมอบหมายให้ศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองและมานำเสนอ โดยที่อาจารย์ไม่กำหนดหรือระบุชี้ชัดว่าต้องไปศึกษาหาความรู้จากแหล่งใดเพื่อเป็นการให้ นักศึกษามีความสุขในการเรียนรู้ด้วยการเลือกที่รับและแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง มุ่งพัฒนาทักษะด้านการสื่อสาร สารสนเทศและรู้เท่าทันสื่อและมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้(active learning) มากกว่าการที่จะเรียนในรูปแบบที่รับอย่างเดียว (passive learning)  ในการศึกษาเรียนรู้ในชั้นเรียน มีการเรียนรู้พัฒนาทักษะ ด้านความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำทักษะด้านความเข้าใจต่างวัฒนะธรรม ต่างกระบวนทัศน์ ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นต้น กล่าวโดยสรุปเป้าหมายที่มุ่งให้สังคมที่ สมาชิกคือผู้เรียนเป็นคนที่มีความสุข เมื่อนำมาปรับใช้ในขั้นตอนการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง คือขั้นการ ประเมิน ผลผลิตที่ได้จากขั้นตอนนี้เรียกว่า นวัตกรรมการเรียนรู้


3.อุปมาอุปมัย :  เมื่อการศึกษาเปรียบได้กับเครื่องมือมนุษย์ หลักสูตรเปรียบได้กับสิ่งใด
ตอบ
        “หลักสูตรเปรียบได้ดังแผนที่     ช่วยแนะแนวปรับชี้จุดหมาย
สร้างถูกช่วยนำทางให้รอดตาย          จักกลับร้ายหากสร้างผิดคิดใคร่ครวญ
ความหมาย
แผนที่ น. แบบที่เขียนย่อจากพื้นดิน บอกแม่น้ำฝั่งทะเล และอื่นๆ
หลักสูตร น. ประมวลวิชาและกิจกรรมต่างๆที่กำหนดไว้ในการศึกษาเพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง
วิเคราะห์ความ
                เซเลอร์ และอเล็กซานเดอร์(Saylor and Alexander 1981:5) กล่าวว่าหลักสูตรเปรียบเสมือนแผนการเดินทางและตารางที่ยืดหยุ่นได้ในการดำเนินการศึกษา หลักสูตรจะถูกสร้างขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านเนื้อหา และวิชาการทางด้านการศึกษาระดับชั้นต่างๆรวมอยู่ด้วย  ดังคำกล่าวที่ปรากฏจะเห็นได้ว่า หลักสูตรคือสิ่งชี้นำทางการศึกษา ช่วยให้ผู้เรียนมีเป้าหมายและทิศทางที่ถูกต้องในการศึกษาเล่าเรียน ตามความคิดของข้าพเจ้าจึงเปรียบหลักสูตรเสมือนแผนที่ที่จะช่วยบอกทิศทางในการเดินทางให้ไปสู่จุดหมายได้โดยไม่หลงออกนอกพื้นที่ จัดเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้รู้และเข้าใจเส้นทางการเดินทางได้โดยเที่ยงตรง
                นับเนื่องตั้งแต่การเริ่มสร้างหลักสูตรนั้นคล้ายคลึงกันกับการสร้างแผนที่ นั่นคือ ต้องประกอบไปด้วยผู้ที่เกี่ยวข้อง และเชี่ยวชาญจากหลายฝ่าย(Team)มาช่วยกันพิจารณา(Curriculum Planning)สร้างหลักสูตรขึ้น ซึ่งแน่นอนเหลือเกินว่าหลักสูตรที่ดีนั้นย่อมไม่สามารถสร้างขึ้นโดยลำพังได้จากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เนื่องเพราะหลักสูตรนั้นต้องสร้างให้เหมาะสมกับสภาพชุมชน ท้องถิ่น ความต้องการในขณะนั้น เช่นเดียวกันกับแผนที่ที่ต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบและใช้ผู้รู้จากหลายฝ่ายในการจัดทำขึ้น  การตั้งเป้าหมาย(Goal)ของหลักสูตรจึงเปรียบเสมือนกับการตั้งเป้าหมายใหญ่หรือสถานที่ที่จะไปในแผนที่ เนื้อหาที่ปรากฏในหลักสูตรก็เสมือนรายละเอียดของหลักสูตรที่ช่วยขยายความให้รายละเอียดที่ชัดเจนโดยอาจปรากฏขึ้นทั้งในรูปแบบของวัจนและอวัจนภาษา (Verbal and Non-Verbal Language)
                จากนั้นจึงเป็นขั้นของการนำหลักสูตรไปใช้ (Curriculum Implementation) ซึ่งเปรียบกับการใช้แผนที่ในการเสาะแสวงหา Goal ที่ได้ตั้งไว้ หากผู้ใช้สามารถไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้จริงตามเกณฑ์ที่กำหนดนั่นย่อมเป็นการรับประกันคุณภาพที่ปรากฏของแผนที่ หรือหากเกิดข้อผิดพลาดจะได้หาแนวทางแก้ไข พัฒนาเพิ่มเติมขึ้นจากเดิม ซึ่งแนวคิกเหล่านี้เชื่อมโยงกับ ขั้นตอนในการประเมินผลหลักสูตร (Curriculum Evaluation) เพื่อให้ผู้ใช้หลักสูตรได้แก้ไข พัฒนาปรับปรุงให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ยังประโยชน์ทั้งต่อตนเอง ชุมชน สังคม และประเทศชาติได้อย่างดีที่สุด
โดยขอสรุปแนวความคิดหลักสูตรเปรียบได้ดังแผนที่เป็นตารางดังนี้


ความเปรียบเหมือน
หลักสูตร
แผนที่
1.   คณะหรือองค์กรในการจัดทำ เช่น คณะผู้บริหาร นักวิชาการ ครูอาจารย์
1.   ฝ่ายผู้รับผิดชอบสร้างแผนที่ เช่น นักธรณีวิทยา   ผู้รับผิดชอบผังเมือง
2.   รูปแบบประเมินความต้องการ(Need Assessments)
2.   เครื่องหมายแสดงทิศ
3.   พันธกิจ เป้าหมาย วิสัยทัศน์
3.   สถานที่ หรือจุดหมายในการเดินทาง
4.   รายละเอียดหลักสูตร
4. รายละเอียดแผนภาพ
5.   คณาจารย์ นักเรียน ผู้เกี่ยวข้องนำไปใช้
5. ผู้ใช้แผนที่นำไปใช้
6.   สรุป และประเมินผล
6. การเดินทางสู่เป้าหมาย





ที่มา :   http://www.drpracha.com/index.php?topic=1014.0                       
            http://kungchichi03042538.blogspot.com/2016/11/su-model.html
https://www.gotoknow.org/posts/498236
ภาพประกอบจาก  https://www.google.com/search?biw

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น