1.สืบค้นจากหนังสือหรือในระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
เรื่อง พื้นฐานการพัฒนาหลักสูตร
ตอบ
ในอดีตการพัฒนาหลักสูตรในระดับต่างๆ มักใช้ข้อมูลพื้นฐานประกอบการพิจารณาค่อนข้างน้อย แต่ให้ความสำคัญกับข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงเฉพาะด้านเนื้อหาในวิชาต่างๆ นำมาบรรจุไว้ในหลักสูตรและละเลยข้อมูลทางด้านศีลธรรม จริยธรรม และสภาพทางสังคม การเปลี่ยนแปลงทางสังคม และแนวโน้มสภาพสังคมในอนาคต ทำให้การศึกษาของชาติที่ผ่านมาไม่สามารถช่วยให้คนไทยหลุดพ้นจากความฟุ่มเฟือย การยึดถือค่านิยมผิดๆ ในการดำรงชีวิตที่ผิดๆ ไม่ช่วยให้การว่างงานลดลง ไม่ช่วยให้แก้ปัญหาอาชญากรรมหมดไป ประเทศยังคงมีการฉ้อราษฎร์บังหลวง ยังมีคนไทยที่พึ่งพาตนเองไม่ได้ ยังมีความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพยากร เพราะฉะนั้นในการพัฒนาหลักสูตรระดับต่างๆ ในอนาคตจะต้องศึกษาข้อมูลพื้นฐานในเรื่องต่างๆ จากหลายๆ แหล่งและจากบุคคลหลายๆ ฝ่ายเพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริงมาพัฒนาหลักสูตร สามารถพัฒนาผู้เรียนให้เจริญเติบโตทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา และอารมณ์ เป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อตนเองและประเทศชาติ หรือกล่าวโดยสรุปคือสามารถใช้หลักสูตรเป็นเครื่องมือในการสร้างสังคมใหม่ในทิศทางที่ถูกต้องได้
การพัฒนาหลักสูตรจำเป็นต้องศึกษา วิเคราะห์ สำรวจ วิจัย สภาพพื้นฐานด้านต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลอย่างเพียงพอที่จะใช้สนับสนุน อ้างอิงในการตัดสินใจดำเนินการต่างๆ เพื่อให้ได้หลักสูตรที่ดี สามารถพัฒนาให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถ และทัศนคติที่นำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคมได้
การพัฒนาหลักสูตรเป็นงานที่มีขอบเขตกว้างขวางมาก การที่จัดหลักสูตรให้มีคุณภาพนั้นผู้พัฒนาหลักสูตรต้องศึกษาข้อมูลหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้เรียน ข้อมูลเกี่ยวกับสังคม หรือข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ เพื่อที่ให้ได้ข้อมูลที่สมจริงที่สุดเพราะข้อมูลเหล่านี้จะช่วยนักพัฒนาหลักสูตรในเรื่องต่างๆ คือ
1. ช่วยให้มองเห็นภาพรวมว่า ในการจัดทำหลักสูตรนั้นจำเป็นต้องคำนึงถึงสิ่งใดบ้างและสิ่งต่างๆ เหล่านั้นมีอิทธิพลต่อหลักสูตรอย่างไร
2. ช่วยให้สามารถกำหนดองค์ประกอบของหลักสูตรได้อย่างเหมาะสม เช่น การกำหนดจุดมุ่งหมายของหลักสูตร และการกำหนดเนื้อหารายวิชา ฯลฯ
3. ช่วยให้สามารถกำหนดยุทธศาสตร์การเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ
4. ช่วยเพิ่มพูนความรู้และทักษะในการออกแบบและพัฒนาหลักสูตรอันจะส่งผลให้การดำเนินการในอนาคตประสบผลดียิ่งขึ้น
ข้อมูลต่างๆ ที่นำมาเป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตรนั้น นักการศึกษาทั้งต่างประเทศ และนักการศึกษาไทย ได้แสดงแนวทางไว้ดังนี้
เซย์เลอร์ และอเล็กซานเดอร์ (Saylor and Alexander ,1974:102-103) กล่าวถึงข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตรว่า
1. ข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้เรียน
2. ข้อมูลเกี่ยวกับสังคมซึ่งสนับสนุนโรงเรียน
3. ข้อมูลเกี่ยวกับธรรมชาติ และลักษณะของกระบวนการเรียนรู้
4. ความรู้ที่ได้สะสมไว้และความรู้ที่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้แก่นักเรียน
ทาบา (Taba, 1962: 16-87) ได้กล่าวว่า การพัฒนาหลักสูตรโดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์จะต้อง คำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
1. สังคมและวัฒนธรรม
2. ผู้เรียนและกระบวนการเรียน
3. ธรรมชาติของความรู้
ไทเลอร์ ( Tyler, 1949:1-43) กล่าวถึงสิ่งที่ควรพิจารณาในการสร้างจุดมุ่งหมายของการศึกษา คือ
1. ข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้เรียน ซึ่งได้แก่ ความต้องการของผู้เรียน และความสนใจของผู้เรียน
2. ข้อมูลจากการศึกษาชีวิตภายนอกโรงเรียน
3. ข้อมูลที่ได้จากข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ
4. ข้อมูลทางด้านปัญญา
5. ข้อมูลทางด้านจิตวิทยาการเรียนรู้
จากการรายงานของคณะกรรมการวางพื้นฐานการปฏิรูปการศึกษา (2518:20-50) ได้กำหนดข้อมูลต่างๆ ในการกำหนดจุดมุ่งหมายทางการศึกษา และในการจัดการศึกษาของประเภทดังนี้
1. สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ
2. สภาพแวดล้อมทางประชากร
3. สภาพแวดล้อมทางสังคม
4. สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ
5. สภาพแวดล้อมทางการเมือง
6. การปกครองและการบริหาร
7. สภาพแวดล้อมทางศาสนาและวัฒนธรรม
8. สภาพของสื่อมวลชนเพื่อการศึกษา
กาญจนา คุณารักษ์ ( 2521: 23-36 ) กล่าวถึงข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตรไว้ดังนี้
1. ตัวผู้เรียน
2. สังคมและวัฒนธรรม
3. ธรรมชาติและคุณสมบัติของการเรียนรู้
4. การสะสมความรู้ที่เพียงพอและเป็นไปได้เพื่อการให้การศึกษา
ธำรง บัวศรี (2532:4) กล่าวถึงข้อมูลต่างๆ ในการพัฒนาหลักสูตรไว้ดังนี้
1. พื้นฐานทางปรัชญา
2. พื้นฐานทางสังคม
3. พื้นฐานทางด้านจิตวิทยา
4. พื้นฐานทางความรู้และวิทยาการ
5. พื้นที่ทางเทคโนโลยี
6. พื้นฐานทางประวัติศาสตร์
สงัด อุทรานันท์ (2532 : 46) กล่าวถึงพื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตรไว้ดังนี้
1. พื้นฐานทางปรัชญา
2. ข้อมูลทางสังคมและวัฒนธรรม
3. พื้นฐานเกี่ยวกับพัฒนาการของผู้เรียน
4. พื้นฐานเกี่ยวทฤษฎีการเรียนรู้
5. ธรรมชาติของความรู้
สุมิตร คุณานุกร (2520 : 10) กล่าวถึงข้อมูลต่างๆ ในการพัฒนาหลักสูตรจำแนกตามแหล่งที่มาได้ 6 ประการ คือ
1. ข้อมูลทางปรัชญา
2. ข้อมูลที่ได้จากนักวิชาการแต่ละสาขา
3. ข้อมูลที่ได้จากจิตวิทยาการเรียนรู้
4. ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาสังคมของผู้เรียน
5. ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาความต้องการและความสนใจของผู้เรียน
6. ข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการทางเทคโนโลยี
สาโรช บัวศรี (2514 : 21-22) ได้กล่าวว่า ในการจัดการศึกษาหรือจัดหลักสูตรต้องอาศัยพื้นฐานหลัก 5 ประการ คือ
1. พื้นฐานทางปรัชญา
2. พื้นฐานทางจิตวิทยา
3. พื้นฐานทางสังคม
4. พื้นฐานทางประวัติศาสตร์
5. พื้นฐานทางด้านเทคโนโลยี
จะเห็นได้ว่าข้อมูลที่นำมาศึกษาเพื่อพัฒนาหลักสูตรมีมากมายหลายด้านสำหรับประเทศไทยควรจัดลำดับข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญในด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. สังคมและวัฒนธรรม
2. เศรษฐกิจ
3. การเมืองการปกครอง
4. สภาพปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาในสังคม
5. พัฒนาการทางเทคโนโลยีสภาพสังคมในอนาคต
6. บุคคลภายนอกและนักวิชาการแต่ละสาขา
7. โรงเรียน ชุมชน หรือสังคมที่โรงเรียนตั้งอยู่
8. ประวัติศาสตร์การศึกษาและหลักสูตร
9. ธรรมชาติของความรู้
10. ปรัชญาการศึกษา
11. จิตวิทยา
2.
ศึกษาทำความเข้าใจเพิ่มเติมจาก สุเทพ อ่วมเจริญ การพัฒนาหลักสูตร : ทฤษฎีและการปฏิบัติ “ การพัฒนาหลักสูตร : พื้นฐานการพัฒนาหลักสูตร ”
ตอบ
พื้นฐานการพัฒนาหลักสูตรด้านปรัชญา
ปรัชญาการศึกษานั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาหลักสูตร โดยใช้กำหนดจุดมุ่งหมาย เลือกเนื้อหาสาระและนำมาจัดหลักสูตรได้อย่างเป็นระบบ ทำให้หลักสูตรนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ปรัชญากับการศึกษามีความสัมพันธ์กันคือ ปรัชญามุ่งศึกษาชีวิตและจักรวาล ส่วนการศึกษามุ่งศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับมนุษย์ ปรัชญาและการศึกษามีจุดสนใจร่วมกันอยู่อย่างหนึ่งคือ การจัดการศึกษาต้องอาศัยปรัชญาในการกำหนดจุดมุ่งหมายและหาคำตอบทางการศึกษา
ปรัชญาการศึกษา คือ แนวความคิด หลักการ และกฎเกณฑ์ ในการกำหนดแนวทางในการจัดการศึกษา นอกจากนี้ปรัชญาการศึกษายังพยายามทำการวิเคราะห์และทำความเข้าใจเกี่ยวกับการศึกษา สามารถมองเห็นปัญหาของการศึกษาได้อย่างชัดเจน
ลักษณะปรัชญาการศึกษา
ปรัชญาการศึกษาจะต้องมีโครงสร้างที่เป็นระบบที่แน่นอนพอสมควร โดยทั่วไปประกอบด้วยประเด็นดังนี้
1. คำจำกัดความของการศึกษา
2. ความมุ่งหมายของการศึกษา
3. นโยบายหรือแนวทางเพื่อการปฏิบัติในการจัดการศึกษา
4. เรื่องอื่นๆ เช่น วิธีการสอนที่จะให้เกิดการเรียนรู้
วิชัย วงษ์ใหญ่ (2554) สรุปสาระสำคัญของปรัชญาการศึกษาไว้ ดังนี้
สารัตถนิยม (Essentialism) การศึกษาเป็นเครื่องมือถ่ายทอดวัฒนธรรม และอุดมการณ์ทางสังคม การจัดการเรียนการสอนเน้นการถ่ายทอดเนื้อหาสาระต่างๆ ให้กับผู้เรียน
นิรันตรนิยม / สัจจนิยม (Perennialism) มนุษย์มีความสามารถในการใช้เหตุผล การควบคุมตนเอง การจัดการเรียนการสอนเน้นให้ผู้เรียนจดจำ การใช้เหตุผล และตั้งใจทำสิ่งต่างๆ
อัตถิภาวนิยม / สวภาพนิยม (Existentialism) มนุษย์แต่ละคนเป็นผู้กำหนดหรือแสวงหาสิ่งสำคัญ และตัดสินใจด้วยตนเอง การจัดการศึกษาจึงให้เสรีภาพในการเรียนรู้ให้ผู้เรียนรู้จักตนเอง
ปฏิรูปนิยม (Reconstructionism) การปฏิรูปสังคมเป็นหน้าที่ของสมาชิกในสังคม การจัดการเรียนการสอน เน้นให้ผู้เรียนเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมของสังคม เพื่อการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม
พิพัฒนนิยม (Progressivism) การดำรงชีวิตที่ดี อยู่บนพื้นฐานของการคิดและการกระทำ การจัดการเรียนการสอน เน้นให้ผู้เรียนคิด ลงมือกระทำ และแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง
นอกจากนี้ วิชัย วงษ์ใหญ่ กล่าวถึงประโยชน์ของวิธีการทางปรัชญาที่มีต่อการพัฒนาหลักสูตร ไว้ดังนี้
1.การจัดจำแนกระบบความคิดความเชื่อพื้นฐานทางการศึกษาที่จะสะท้อนไปสู่การพัฒนาหลักสูตร
2.ปรัชญาเป็นพื้นฐานและเป็นตัวนำไปสู่การตรวจสอบ เสนอแนะเกี่ยวกับจุดมุ่งหมายของการศึกษา ตรวจสอบความสอดคล้องของจุดมุ่งหมายการศึกษากับสังคม
3.กระบวนการพัฒนาหลักสูตรจะต้องศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลอย่างกว้างขวาง วิธีการทางปรัชญาจะช่วยทำให้เกิดความคิดแบบองค์รวม มีเอกภาพทางความคิด
4.วิธีการทางปรัชญา จะทำการวิเคราะห์สาระและธรรมชาติของการศึกษา เช่น ความรู้อะไรที่เป็นประโยชน์ และการจัดการศึกษาอย่างไร จึงจะพัฒนาชีวิตของคนให้มีคุณภาพ
พื้นฐานการพัฒนาหลักสูตรด้านจิตวิทยา
ในการจัดทำหลักสูตรนั้น นักพัฒนาหลักสูตรต้องศึกษาข้อมูลพื้นฐานทางจิตวิทยา ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้เรียนว่าผู้เรียนเป็นใคร มีความต้องการและความสนใจอะไร มีพฤติกรรมอย่างไร จิตวิทยาการเรียนรู้จะถูกนำมาใช้เพื่อให้ได้ความรู้ในเรื่องธรรมชาติของการเรียนรู้และปัจจัยทางจิตวิทยาที่ส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแบ่งทฤษฎีการเรียนรู้ได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆได้แก่
1. ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพฤติกรรมนิยม (Behaviorism)
2. ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มปัญญานิยม (Cognitivism)
3. ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มมนุษย์นิยม (Humanism)
4. ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มสรรค์สร้างนิยม (Constructivism)
นอกจากข้อมูลที่เกี่ยวกับจิตวิทยาการเรียนรู้แล้ว ในการพัฒนาหลักสูตรจำเป็นต้องมีข้อมูลที่เกี่ยวกับพื้นฐานการพัฒนาหลักสูตรด้านผู้เรียนซึ่งมีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องดังนี้
โดนัล คลาก (Donald Clark) กล่าวว่าขั้นตอนการวิเคราะห์ข้อมูลประชากรกลุ่มเป้าหมายมีความจำเป็นและใช้ประโยชน์ได้มาก เมื่อต้องตัดสินใจเกี่ยวกับการเสนอโปรแกรมการเรียนการสอนซึ่งประกอบด้วยข้อมูลต่างๆดังต่อไปนี้
- จำนวนผู้เรียน
- ทำเล/ที่ตั้งของผู้เรียน
- การศึกษาและประสบการณ์ของผู้เรียน รวมถึงประสบการณ์ในปัจจุบัน
- ภูมิหลังของผู้เรียน
- ระดับความสามารถในการปฏิบัติงานที่ต้องการกับระดับทักษะในปัจจุบัน
- ความแตกต่างทางภาษาและวัฒนธรรมของผู้เรียน
- สิ่งเร้าของผู้เรียน
- แรงจูงใจของผู้เรียน
- ความสามารถทางสติปัญญาของผู้เรียน
- ความสนใจพิเศษหรืออคติของผู้เรียน
ข้อมูลพื้นฐานการพัฒนาหลักสูตรด้านผู้เรียน เป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคุณลักษณะของประชากรกลุ่มเป้าหมายในการจัดการศึกษา โดยเริ่มจากการวิเคราะห์ภาพรวมของผู้เรียนว่าผู้เรียนอยู่ในระบบการศึกษาแบบใด เพื่อมุ่งค้นหาผู้สอนได้อย่างถูกต้องแน่นอน ซึ่งผลการวิเคราะห์ผู้เรียนจะช่วยปรับปรุงผู้สอนให้สามารถจัดการเรียนการสอนที่ตอบสนองความจำเป็นของผู้เรียน
คอคซิม ( Cogsim) เสนอแนวคิดในการวิเคราะห์ผู้เรียน โดยกำหนดคำถามเกี่ยวกับผู้เรียนในประเด็นต่างๆดังนี้
- ทักษะ(skill) และเจตคติ(attitudes)
- ประสบการณ์(experiences)
- มโนทัศน์ที่คลาดเคลื่อน(misconceptions)
- สถานภาพของผู้เรียน (demographics)
- เป้าหมาย(goal)
- การนำไปใช้(uses)
- แบบการเรียนรู้ที่ต้องการ(preferred learning styles)
- แรงจูงใจ(motivations)
- ความสามารถทางภาษา(language abilities)
- ศัพท์เฉพาะ(technical vocabularies
กรมวิชาการ และคณะอนุกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ คณะกรรมการปฏิรูปการศึกษากระทรวงศึกษาธิการ กล่าวสรุปว่า วิธีวิเคราะห์ผู้เรียนที่จะช่วยให้ผู้สอนได้รู้จักผู้เรียนเป็นรายบุคคลหรือรายกลุ่ม มีขั้นตอนดังนี้
1. กำหนดจุดมุ่งหมายที่จะใช้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้เรียนแล้วนำไปจัดกลุ่มผู้เรียนในลักษณะกลุ่มเหมือน หรือกลุ่มคละ หรือกลุ่มที่มีจุดมุ่งหมายเฉพาะในเรื่องทักษะ
2. การเก็บรวบรวมข้อมูล ซึ่งมีหลายวิธีเช่น การสังเกต การสนทนา การสัมภาษณ์ การทำแบบทดสอบก่อนเรียน ระเบียนสะสม แฟ้มผลงาน บันทึกสุขภาพ เป็นต้น
3. วิเคราะห์ผู้เรียนรายบุคคล โดยนำเสนอให้เห็นองค์รวมของผู้เรียนใน 3 ด้านคือ ความสนใจ สติปัญญา วุฒิภาวะ และวิธีการเรียนรู้
พื้นฐานการพัฒนาหลักสูตรด้านสังคม
ข้อมูลพื้นฐานด้านสังคมที่สำคัญที่ควรศึกษาเพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตร คือ ข้อมูลที่เกี่ยวกับสภาพของสังคม และแนวคิดของการพัฒนาการทางสังคมซึ่งมี 5 ยุคคือ
1.ยุคเกษตรกรรม
2.ยุคอุตสาหกรรม
3.ยุคสังคมข่าวสารข้อมูล
4.ยุคข้อมูลพื้นฐานความรู้
5. ยุคปัญญาประดิษฐ์
การศึกษาข้อมูลดังกล่าวนั้นเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำหลักสูตรให้เหมาะสมกับผู้เรียนในยุคสมัยต่างๆ ประการสำคัญอีกประการหนึ่งในการเก็บรวบรวมข้อมูลด้านสังคมนั้นมุ่งการสร้างเครือข่ายหรือความร่วมมือของชุมชนเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการจัดทำหลักสูตร เพราะบางรายวิชา สภาพชุมชนและสังคมไม่เอื้ออำนวยหรือส่งเสริมเท่าที่ควรก็อาจเป็นอุปสรรคในการจัดการศึกษา โดยข้อมูลพื้นฐานการพัฒนาหลักสูตรด้านสังคมนี้ สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลได้จากเอกสารรายงานต่างๆ หรือเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการสำรวจ สอบถาม และการสัมภาษณ์บุคคลต่างๆ
พื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก การศึกษาจึงต้องสอดคล้องไปกับความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นักพัฒนาหลักสูตรจึงต้องใช้ข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประกอบการกำหนดเนื้อหาของหลักสูตร และวิธีการจัดการเรียนรู้ กล่าวคือกำหนดเนื้อหาที่พอเพียง ทันสมัย ให้ผู้เรียนได้ทราบถึงผลกระทบที่เกิดจากความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม กำหนดให้ใช้วิธีการและสื่อการเรียนอันทันสมัย เช่น การสอนแบบทางไกล การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน การใช้อินเทอร์เน็ต (internet) ในการจัดการเรียนรู้ เป็นต้น
พื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะเกี่ยวข้องกับการจัดทำหลักสูตรใน 2 ลักษณะคือ
1.นำมาเป็นข้อมูลในการพัฒนาหลักสูตรเพื่อพัฒนาคนให้พร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงในสังคม
2.ใช้ในการพัฒนากระบวนการจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ดังนั้นการศึกษาข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีผลทั้งในปัจจุบันและแนวโน้มความเจริญในอนาคต จะทำให้สามารถพัฒนาหลักสูตรที่สามารถพัฒนาคนในสังคมให้มีศักยภาพเหมาะสมกับการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปได้ตามความต้องการของสังคม
การพัฒนาหลักสูตร:ทฤษฎีและการปฏิบัติ
เป็นตำราที่มุ่งเน้นกระบวนการที่ช่วยในการกำหนดจุดหมายของการศึกษา พร้อมทั้งแนวทางในการจัดกิจกรรมการศึกษา ผู้เขียนได้เรียบเรียงตามกระบวนการพัฒนาหลักสูตร การวางแผนหลักสูตร การออกแบบหลักสูตร การจัดระบบหลักสูตรและการประเมินหลักสูตร
โดยนำแนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาหลักสูตรและปฏิบัติการพัฒนาหลักสูตรมารวบรวมเป็นความรู้ในวิชาการพัฒนาหลักสูตรเพื่อเป็นแนวทางนำไปปฏิบัติได้
ภายในตำราได้แยกหมวดหมู่ไว้ จำนวน5บท ประกอบด้วย
บทที่1 การพัฒนาหลักสูตร นิยาม แบบจำลองและทฤษฎีหลักสูตร
บทที่2 การวางแผนหลักสูตร
บทที่3 การออกแบบหลักสูตร
บทที่4 การจัดระบบหลักสูตร
บทที่5 การประเมินหลักสูตร
ซึ่งในแต่ละบทนั้นมีการยกวิธี การขั้นตอน แนวคิดและแบบจำลองในการพัฒนาหลักสูตรของนักทฤษฎีสำคัญทางการศึกษาไว้ด้วย อาทิเช่น ไทเลอร์ ทาบา เซเลอร์ อเล็กซานเดอร์และเลวีส โอลิวา หรือนักทฤษฎีทางการศึกษาของไทยอย่างวิชัย วงษ์ใหญ่ไว้อีกด้วย
มีเรื่องการวางแผนพัฒนาและแนวคิดในการวางแผนหลักสูตร เรื่องหลักการ การกำหนดคุณลักษณะและแนวคิดในการออกแบบหลักสูตรต่างๆ รวมถึงแนวคิดในการจัดระบบ การนำหลักสูตรใช้ หลักการทางจิตวิทยาสำหรับการเรียนรู้และหลักการส่งเสริมความเป็นเลิศในการเรียนรู้และการสอนด้วยศาสตร์และศิลป์ อีกทั้งกลยุทธ์ วิธีการต่างๆ เช่น กลยุทธ์การเรียนรู้แบบบูรณาการ การประเมินความรู้เพื่อพัฒนาวิชาชีพ
จวบจนขั้นตอนการประเมินหลักสูตร(curriculum evaluation) ให้ทราบถึงการนิยามการประเมินหลักสูตร แนวคิดการประเมิน ประเมินความก้าวหน้า ประเมินผลสรุป ประเมินก่อน ระหว่างและหลังการนำหลักสูตรไปใช้เพื่อการพัฒนาตน
ผู้เขียนอกจากจะรวบรวมหลักการ แนวคิด แบบจำลองทฤษฎีของนักการศึกษาที่สำคัญระดับโลกแล้ว ผู้เขียนยังสร้างรูปแบบและหลักการอันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาอีกด้วย
ทั้งนี้ขอยกตัวอย่างขั้นตอนรวม วิธีการและการบรรยายความหมายของกระบวนการพัฒนาหลักสูตรตามแนวคิด su model โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุเทพ อ่วมเจริญ
กระบวนการพัฒนาหลักสูตรตามแนวคิด su model
กระบวนการพัฒนาหลักสูตร(สามเหลี่ยมใหญ่)จะประกอบด้วยขั้นตอนในการจัดทำหลักสูตร(สามเหลี่ยมเล็กๆ4ภาพ) โดยประกอบด้วย4ขั้นตอนดังนี้
สามเหลี่ยมแรกเป็นการวางแผนหลักสูตร(Curriculum Planing) อาศัยแนวคิดการพัฒนาหลักสูตรของไทเลอร์คำถามที่หนึ่งคือ มีจุดมุ่งหมายอะไรบ้างในการศึกษาที่โรงเรียนต้องแสวงหา
สามเหลี่ยมรูปที่สอง เป็นการออกแบบ(Curriculum Design) ซึ่งจะนำจุดหมายและจุดมุ่งหมายของหลักสูตร มาจัดทำกรอบการปฏิบัติ
สามเหลี่ยมรูปที่สาม เป็นการจัดการหลักสูตร(Curriculum Organize)ซึ่งจะสังเกตเห็นว่ารูปสามเหลี่ยมนี้กลับหัวคล้ายเงาสะท้อนของสามเหลี่ยมรูปแรก ในทางปฏิบัติการจัดการหลักสูตรต้องพิจารณาว่าเป็นไปตามการวางแผนหรือไม่ สอดคล้องกับคำถามที่สามของไทเลอร์ คือจัดประสบการณ์การเรียนรู้อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ
สามเหลี่ยมรูปที่สี่ การประเมิน(Curriculum Evaluation) เป็นการประเมินทั้งหลักสูตรและผลการเรียนรู้ตามหลักสูตร สอดคล้องกับคำถามที่สี่ของไทเลอร์ คือ ประเมินประสิทธิ์ผลของประสบการณ์ในการเรียนอย่างไร
การสร้างแบบจำลองการพัฒนาหลักสูตรตามแนวคิดSU Model
SU Model คือ แบบจำลองการพัฒนาหลักสูตร ซึ่งมีลำดับขั้นในการสร้างแบบจำลอง ดังนี้
เริ่มจากการเขียนรูปวงกลม มีความหมายดั่ง จักรวาลแห่งการเรียนรู้ เรียกง่ายๆว่าโลกแห่งการศึกษาและเขียนรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า ลงบนเส้นรอบวงของวงกลม มีความหมายแทน กระบวนการพัมนาหลักสูตร โดยให้มุมบนสุดของสามเหลี่ยมแสดงจุดหมายของหลักสูตรที่มุ่งเน้น ความรู้(Knowledge) มุมล่างด้านซ้ายมือแสดงจุดหมายของหลักสูตรที่มุ่งเน้น ผู้เรียน(Learner) และมุมล่างด้านขวามือ แสดงจุดหมายของหลักสูตรที่มุ่งเน้นสังคม(Society)
ในพื้นที่วงกลมยังระบุพื้นฐาน3ด้าน ประกอบด้วย ปรัชญา จิตวิทยาและสังคม ทั้งนี้ผู้เขียนได้นำแนวคิดกระบวนการพัฒนาหลักสูตรมากำหนดชื่อสามเหลี่ยมทั้งสี่รูปให้เป็นไปตามกระบวนการพัฒนาหลักสูตร ดังนี้
1) การวางแผนหลักสูตร(Curriculum planing)
2) การออกแบบหลักสูตร (Curriculum Design)
3) การจัดดการหลักสูตร (Curriculum Organize)
4) การประเมินหลักสูตร (Curriculum Evaluation)
กล่าวโดยสรุป หนังสือการพัฒนาหลักสูตร:ทฤษฎีและการปฏิบัติ เป็นหนังสือที่อัดแน่นด้วยสารประโยชน์ทางการศึกษา อันเป็นผลดีต่อผู้สนใจในการสืบค้นข้อมูลและความเข้าใจในรูปแบบจำลอง อีกทั้ง ยังเป็นประโยชน์ต่อการออกแบบหลักสูตร การพัฒนาหลักสูตร จวบจนการสรุปและประเมินผล อันเป็นผลพวงที่ดีต่อความก้าวหน้าของวงการการศึกษาของไทย
.
3.แลกเปลี่ยนแนวคิดกับเพื่อนนักศึกษา หรือผู้รู้ เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาของประเทศไทย
ได้รับอิทธิพลหรือมีปัจจัยใด
ตอบ
(การปรับเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาของประเทศไทย ได้รับอิทธิพลหรือมีปัจจัยใด)
ที่มา:หนังสือการพัฒนาหลักสูตร:ทฤษฎีและการปฏิบัติ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุเทพ อ่วมเจริญ
สาขาวิชาหลักสูตรและการนิเทศ ภาควิชาหลักสูตรและวิธีสอน คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
Ralph W. Tyler . Basic Principles of Curriculum and Instruction , The University of Chicago Press
Ralph W. Tyler . Basic Principles of Curriculum and Instruction , The University of Chicago Press
เนื้อหาดีมากครับจัดได้ดีครับ ธีรเดช
ตอบลบ