ขั้นที่ 1 การศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน
ในการพัฒนาหลักสูตรจำเป็นต้องศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานในด้านต่างๆ เพื่อใช้ในการกำหนดองค์ประกอบต่างๆ ของหลักสูตรซึ่งได้แก่ วัตถุประสงค์ของหลักสูตร เนื้อหาสาระ กิจกรรมในการจัดการเรียนการสอน/สื่อ การวัดและประเมินผลผู้เรียนซึ่งข้อมูลพื้นฐานที่ได้จากการศึกษาช่วยในการกำหนดวัตถุประสงค์หรือการกำหนดสิ่งที่ต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ วัตถุประสงค์จะเป็นตัวกำหนดเนื้อหาสาระที่ควรจัดให้ผู้เรียน ซึ่งอยู่ในลักษณะรายวิชา หลังจากนั้นจึงนำมากำหนดกิจกรรมในการจัดการเรียนการสอน สื่อการเรียนรู้ต่างๆ รวมทั้งการกำหนดวิธีการวัดและประเมินผลผู้เรียนว่าจะใช้วิธีการอย่างไร ซึ่งการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตรควรประกอบด้วย
1.1 การศึกษาสภาพและความต้องการของชุมชน เนื่องจากโรงเรียนที่มีหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ ทักษะ และวัฒนธรรมของชุมชน ช่วยเตรียมคนให้กับชุมชนและสังคม ดังนั้นการพัฒนาหลักสูตรเพื่อให้ผู้เรียนเป็นผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ คิดเป็นทำเป็นและเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม จำเป็นต้องทราบข้อมูลเกี่ยวกับสภาพและความต้องการของชุมชนหรือสังคมที่โรงเรียนตั้งอยู่ เพื่อให้หลักสูตรที่พัฒนาขึ้นมีความทันสมัยเหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของชุมชน การศึกษาสภาพและความต้องการของชุมชนมีการศึกษาในหลายด้าน เช่น การศึกษา สาธารณูปโภค สิ่งแวดล้อม การประกอบอาชีพ ในปัจจุบันและแนวโน้มของอาชีพในอนาคต สุขภาพอนามัย ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม ค่านิยม ทรัพยากรต่างๆ ปัญหาของชุมชน ข้อมูลเกี่ยวกับชุมชนอาจศึกษาจากการสำรวจสอบถามสัมภาษณ์บุคคลในชุมชน และศึกษาจากเอกสาร รายงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแนวทางในการตอบสนองความต้องการของชุมชนในพื้นที่ได้
ข้อมูลของชุมชนที่สำคัญมีดังต่อไปนี้
1. ข้อมูลสภาพทั่วไปของชุมชน แผนที่ชุมชน แสดงที่ตั้งของสถานที่ต่างๆ เช่น สิ่งสำคัญในชุมชน เช่น วัด โรงเรียน เทศบาล ธนาคาร ฯลฯ รวมทั้งลักษณะการตั้งบ้านเรือนภายในชุมชน ประวัติความเป็นมาและสภาพของชุมชน จำนวนประชากร แยกตามเพศ อายุ จำนวนครัวเรือน ศาสนา สถานที่ท่องเที่ยว เป็นต้น
2. ข้อมูลด้านการศึกษา จำนวนผู้จบการศึกษาในระดับต่างๆ จำนวนนักเรียนในระดับต่างๆ เช่น ประถม มัธยม ฯลฯ จำนวนครูที่สอนในระดับต่างๆ จำนวนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษา เช่น ศึกษานิเทศก์ ฯลฯ
3. ข้อมูลศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีของชุมชน ภาษาท้องถิ่น โบราณสถาน โบราณวัตถุภายในชุมชน ดนตรี เพลง การแสดงพื้นบ้านของชุมชน วรรณกรรม ตำนานพื้นบ้านของชุมชน
4. ข้อมูลพื้นฐานทางเศรษฐกิจ อาชีพ/รายได้ของคนในชุมชน ปฏิทิน การปฏิบัติงานของชุมชน เช่น ช่วงเดือนการเก็บเกี่ยวข้าว ช่วงเวลาการเก็บเงาะ การตัดยาง เป็นต้น รวมทั้งทรัพยากรที่มีในชุมชน เช่น ป่าไม้ แร่ธาตุ แหล่งน้ำ และพืชเศรษฐกิจหลักของชุมชน
5. ภูมิปัญญาท้องถิ่น ทำเนียบชื่อ ที่อยู่ ความรู้ความสามารถ ความชำนาญของ แต่ละบุคคลปัญหาชุมชน
6. ปัญหาที่เกิดขึ้นภายในชุมชน เช่น ยาเสพติด พืชผลราคาตก โจรผู้ร้ายชุกชุม
นอกจาการศึกษาและสำรวจสภาพและความต้องการของชุมชน รวมทั้งข้อมูลที่สำคัญของชุมชนแล้ว ต้องมีการสำรวจสภาพและความต้องการของผู้เรียน ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถได้จากครูในโรงเรียน ผู้ปกครอง และตัวนักเรียนเอง
วิธีการศึกษาชุมชน สามารถดำเนินการได้ดังนี้
1. ศึกษาจากเอกสารต่างๆ จัดเป็นข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary Data) ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีผู้จัดพิมพ์หรือรวบรวมไว้อยู่ในรูปเอกสารสิ่งพิมพ์ต่างๆ เอกสารเหล่านี้สามารถค้นคว้าศึกษาได้จากห้องสมุดจากหน่วยงานต่างๆ ที่รวบรวมจัดเก็บไว้
2. ศึกษาจากการสำรวจชุมชน จัดเป็นข้อมูลปฐมภูมิ (Primary Data) ซึ่งผู้ต้องการใช้ข้อมูลเป็นผู้เก็บรวบรวมข้อมูลโดยตรงจากชุมชน ทำให้ได้เห็นสภาพที่แท้จริง และสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชุมชนด้วย ซึ่งการสำรวจชุมชนต้องใช้วิธีการต่างๆ กัน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริง วิธีการต่างๆได้แก่ การสัมภาษณ์ การสอบถาม และการสังเกตเป็นต้น
จากการศึกษาสภาพและความต้องการของชุมชน นำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดมาจัดลำดับความสำคัญ โดยกำหนดเป็นหัวเรื่องที่ต้องการให้นักเรียนได้เรียนรู้ เช่น ในชุมชนมีปัญหายาเสพติด สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ภาวะโลกร้อน มีการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เหล่านี้เป็นต้น หรืออาจเป็นเรื่องที่ชุมชนต้องการถ่ายทอดวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนให้กับนักเรียนได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้จัดแยกเป็นหมวดหมู่ให้ชัดเจนว่า อะไรเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องการแก้ไข หรืออะไรเป็นสิ่งที่ต้องการให้นักเรียนรู้เพื่อสืบทอดวัฒนธรรมของชุมชนในการดำเนินงานขั้นตอนนี้มีความสำคัญที่ต้องให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับชุมชน เช่น ผู้ปกครอง กรรมการโรงเรียน คนในชุมชน รวมทั้งนักเรียนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นร่วมกับครู ผู้บริหารโรงเรียน เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปของการจัดลำดับความสำคัญของปัญหา หรือเรื่องราวที่ให้นักเรียนได้เรียนรู้
1.2 การวิเคราะห์ศักยภาพของโรงเรียน การวิเคราะห์ศักยภาพของโรงเรียนเป็นการศึกษาสภาพทั่วไปของโรงเรียนในด้านต่างๆ เช่น บุคลากร งบประมาณ อุปกรณ์ และสื่อต่างๆ อาคารสถานที่ ห้องเรียน ปัญหาที่เกิดจากการใช้หลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอน ความร่วมมือระหว่างโรงเรียนกับชุมชน ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยในการพิจารณาว่าโรงเรียนมีความพร้อมหรือไม่ มีผลต่อการตัดสินใจว่าจะเลือกแนวทางการพัฒนาหลักสูตรอย่างไรจึงจะเหมาะสมกับศักยภาพของโรงเรียนมากที่สุด ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ได้จากเอกสาร รายงานต่างๆ เช่น สถิติของโรงเรียน รายงานการประเมินคุณภาพของโรงเรียน การสำรวจภายในโรงเรียน เป็นต้น
1.3 การวิเคราะห์หลักสูตรแกนกลาง เนื่องจากปัจจุบันเป็นระยะเวลาที่เราผ่านการใช้หลักสูตรมาหลายครั้งจนปัจจุบันกำลังจะนำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มาใช้กับโรงเรียนนำร่องจำนวน 555 แห่ง ในปีการศึกษา 2552 และคาดว่าจะนำมาใช้ครบทุกชั้นในปีการศึกษา 2553 ดังนั้น การวิเคราะห์หลักสูตรแกนกลางใช้แนวทางการวิเคราะห์ดังนี้
1. หลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช 2521 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2533) ให้พิจารณาจาก
1.1 จุดมุ่งหมายของหลักสูตร
1.2 จุดประสงค์รายวิชา (ความมุ่งหวังที่ต้องการ)
1.3 เนื้อหาสาระ (โครงสร้างหลักสูตร)
1.4 กิจกรรมการจัดการเรียนการสอนและการประเมินผลการเรียนรู้
2. หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ให้พิจารณาจาก
2.1 มาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตร
2.2 สาระและมาตรฐานการเรียนรู้แต่ละช่วงชั้น
- 8 กลุ่มสาระ
- กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
2.3 การจัดการเรียนรู้
2.4 การวัดและประเมินผลการเรียนรู้
ซึ่งสถานศึกษาแต่ละแห่งควรนำข้อมูลการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานที่ประกอบด้วยการศึกษาสภาพและความต้องการของชุมชน การวิเคราะห์ศักยภาพของโรงเรียนและการวิเคราะห์หลักสูตรแกนกลาง
ที่มา : http://patthadon-dit9941.blogspot.com/search/label/%
หนังสือเรียนวิชาการพัฒนาหลักสูตร(ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิจิตรา ธงพานิช)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น