วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2561

แนวคิดเกี่ยวกับการนำหลักสูตรไปใช้





                                                   แนวคิดเกี่ยวกับการนำหลักสูตรไปใช้
              ถ้าเรายอมรับว่าการนำหลักสูตรไปใช้เป็นขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้หลักสูตรบังเกิด ผลต่อการใช้อย่างแท้จริงแล้ว การนำหลักสูตรไปใช้ก็ควรจะเป็นวิธีการปฏิบัติการที่มีหลักเกณฑ์และมีกระบวนการปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพพอที่จะมั่นใจได้ว่า หลักสูตรที่สร้างขึ้นนั้นจะได้มีโอกาสนำไปปฏิบัติจริงๆ อย่างแน่นอน นักการศึกษาต่างก็ให้ทัศนะซึ่งเป็นแนวคิดในการนำหลักสูตรไปใช้ดังนี้
              โบแชมป์ (Beauchamp, 1975169) กล่าวว่า สิ่งแรกที่ควรทำคือ การจัดสภาพแวดล้อมของโรงเรียน ครูผู้นำหลักสูตรไปใช้มีหน้าที่แปลงหลักสูตรไปสู่การสอน โดยใช้หลักสูตรเป็นหลักในการพัฒนากลวิธีการสอน สิ่งที่ควรคำนึงถึงในการนำหลักสูตรไปใช้ให้ได้ผลตามเป้าหมาย
              1. ครูผู้สอนควรมีส่วนร่วมในการร่างหลักสูตร
              2. ผู้บริหารต้องเห็นความสำคัญและสนับสนุนการดำเนินงานให้เกิดผลสำเร็จได้ ผู้นำที่สำคัญที่จะรับผิดชอบได้ดี คือครูใหญ่
              ทานการ์ด (Tankard, 1974 46-88) ได้ให้ความเห็นว่า ความสำเร็จของการนำหลักสูตรไปใช้อยู่ที่การวางแผนการทดลองใช้ ซึ่งมีองค์ประกอบต่างๆ คือ
              1. รายละเอียดของโครงการ
              2. ปรัชญาและจุดมุ่งหมาย
              3. แผนการนำไปใช้และการดำเนินการ
              ผู้เกี่ยวข้องในการนำหลักสูตรไปใช้ซึ่งมีศึกษานิเทศก์ ครูใหญ่ ผู้บริหารระดับต่างๆ เป็นส่วนใหญ่จะต้องร่วมมือกันดำเนินงานตั้งแต่การทำโครงการปรับปรุงหลักสูตร กำหนดจุดมุ่งหมาย จัดทำเนื้อหาแผนการนำไปทดลองใช้ และการประเมินผล ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการนำไปทดลองใช้ จะต้องบันทึกไว้ทั้งหมด เพื่อนำไปเป็นข้อมูลในการแก้ไขปรับปรุงหลักสูตร
              สำหรับ เวอร์ดุน (Verduin, 1977 88-90) เขาให้ทัศนะว่า การนำหลักสูตรไปใช้จะต้องเริ่มดำเนินการโดยการนิเทศให้ครูในโรงเรียนเข้าใจหลักสูตร แล้วตั้งกลุ่มปฏิบัติการขึ้นเพื่อการศึกษาปัญหาที่จะเกิดขึ้นในระหว่างการใช้หลักสูตรจากพื้นที่ที่เป็นปัญหาหลายๆ แห่งเพื่อให้ได้ข้อมูลมากที่สุด กลุ่มปฏิบัติการนี้จะต้องเข้าไปทำงานร่วมกันกับครูผู้สอนอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดความเห็นอกเห็นใจและมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน การจัดการอบรมปฏิบัติการแก่ครูประจำการถือว่าเป็นกิจกรรมที่สำคัญที่สุดในการนำหลักสูตรไปใช้ ต้องใช้วิทยากรผู้เชี่ยวชาญการสอนโดยเฉพาะสามารถฝึกผู้อื่นได้ดีและมีวิธีการให้ครูเกิดความสนใจ ถ้ามีข้อเสนอแนะให้มีการเปลี่ยนแปลงระหว่างการใช้หลักสูตรควรเลือกครูผู้สอนที่อาสาสมัครและเต็มใจ ไม่ควรใช้ครูทุกคนในโรงเรียนเพราะอาจมีบางคนที่ไม่เห็นด้วยและไม่เต็มใจกับการเปลี่ยนแปลง จึงควรทำแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้ครูส่วนใหญ่เข้าใจ จะทำให้การเปลี่ยนแปลงมีความหมายและได้รับการยอมรับโดยปริยาย
              จากเอกสารการประชุมของประเทศต่างๆ ในเอเชีย (APEID, 1977 29) ในการประชุมทบทวนประสบการณ์ต่างๆ ของประเทศในเอเชีย เรื่อง ยุทธศาสตร์การนำหลักสูตรไปใช้ได้สรุปเป็นองค์ประกอบที่สำคัญได้ดังนี้
              1. วางแผนและเตรียมการนำหลักสูตรไปใช้โดยให้คนหลายกลุ่มเข้าร่วมแสวงหาการสนับสนุนจากประชาชนและจัดเตรียมทรัพยากร (มนุษย์และวัสดุ) ให้พร้อม
              2. จัดให้มีหน่วยงานส่งเสริมการนำหลักสูตรไปใช้ให้เป็นไปได้สะดวกและรวดเร็ว
              3. กำหนดวิถีทางและกระบวนการนำหลักสูตรไปใช้อย่างเป็นขั้นตอน รวมเหตุผลต่างๆ ที่จะใช้ในการจูงใจครูและติดตามผลการปฏิบัติงาน
              ธำรง บัวศรี (2514165-195) ได้สรุปชี้ให้เห็นปัจจัยจะนำไปสู่ความสำเร็จของการนำหลักสูตรไปใช้ไว้ว่าควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
              1. โครงการสอน เช่น การวางโครงการสอนแบบหน่วย (Unit Organization of Instruction, Teaching Unit) ประเภทของหน่วยการสอนมี ประเภท คือ หน่วยรายวิชา (Subject Matter Unit) และหน่วยงานประสบการณ์ (Experience Unit)
              2. หน่วยวิทยาการ (Resource Unit) เป็นแหล่งให้ความรู้แก่ครู เช่น เอกสาร คู่มือ และแนวการปฏิบัติต่างๆ
              3. องค์ประกอบอื่นๆ ที่ช่วยในการสอน เช่น สถานที่และเครื่องมือเครื่องใช้ อุปกรณ์การเรียนการสอน วิธีการสอนและวัดผลการศึกษา กิจกรรมร่วมหลักสูตร การแนะนำการจัดและบริหารโรงเรียนเป็นต้น
              วิชัย วงษ์ใหญ่ (2521140 -141) ได้ให้ความเห็นว่า ผู้มีบทบาทในการนำหลักสูตรไปใช้ให้บรรลุจุดหมายมี กลุ่ม คือ ครูใหญ่ ครูประจำชั้น และชุมชน ในจำนวนนี้ครูใหญ่เป็นผู้ที่มีบทบาทมากที่สุดที่จะต้องศึกษาและวางแผนเกี่ยวกับการใช้หลักสูตรโดยมีขั้นตอนสรุปสั้นๆ ได้ดังนี้
              1. เตรียมวางแผน
              2. เตรียมจัดอบรม
              3. การจัดครูเข้าสอน
              4. การจัดตารางสอน
              5. การจัดวัสดุประกอบหลักสูตร
              6. การประชาสัมพันธ์
              7. การจัดสภาพแวดล้อมและการเลือกกิจกรรมเสริมหลักสูตร
              8. การจัดโครงการประเมิน
              จากเอกสารทางวิชาการของแผนกวิชาประถมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (251611) กล่าวถึงบทบาทของโรงเรียนในการนำหลักสูตรไปใช้ให้ได้ผลที่ควรจัดกิจกรรมดังนี้
              1. ประชุมครูเพื่อศึกษาหลักสูตรและทำโครงการสอน
              2. จัดอบรมครู เพื่อให้เพิ่มพูนความรู้จากวิทยากรในด้วยวิธีการสอนแบบใหม่ๆ
              3. เตรียมเอกสารทุกชนิดไว้ให้ค้นคว้าและอ่านประกอบ
              จากคู่มือการนำหลักสูตรประถมศึกษา พ.ศ. 2521 ไปใช้ (กรมวิชาการ 2520279) ได้กล่าวไว้ในเรื่องการเตรียมการในการใช้หลักสูตรว่ามีขั้นตอนสรุปได้ดังนี้
              1. เผยแพร่และประชาสัมพันธ์
              2. จัดตั้งกลุ่มปฏิบัติการหลักสูตรขึ้นในส่วนภูมิภาคทุกเขตการศึกษา
              3. ประสานงานกับกรมการฝึกหัดครู
              4. ฝึกอบรมครู
              5. จัดสรรงบประมาณ
              6. จัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อจัดปัญหาและอุปสรรคการใช้หลักสูตร
              จากแนวคิดของการนำหลักสูตรไปใช้ที่ได้ยกตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่า การนำหลักสูตรไปใช้นั้นเป็นงานหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับบุคคลหลายฝ่าย นับแต่ผู้บริหารระดับกระทรวง กรมกอง ผู้บริหารระดับโรงเรียน ครูผู้สอน ศึกษานิเทศก์ และบุคคลอื่นๆ ขอบเขตและงานของการนำหลักสูตรไปใช้เป็นงานที่มีขอบเขตกว้างขวาง เพราะฉะนั้นการนำหลักสูตรไปใช้จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างรอบคอบและระมัดระวัง


ที่มา : http://patthadon-dit9941.blogspot.com/2017/08/9.html
หนังสือเรียนวิชาการพัฒนาหลักสูตร(ดร.พิจิตรา  ธงพานิช)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น